ตอนผมยังเป็นเด็กเล็กชอบเล่นซุกซนโลดโผน แม่คว้าไม้เรียวไล่ตี ผมรู้ว่าแม่โกรธมากๆก็ตอนแม่หลุดปาก ซึ่งนานๆจะหลุดออกมาทีว่า เลี้ยงมาเปลืองข้าวสุก
ข้าวสุกหุงจากข้าวสารไม่น่าจะแพง ผมนึกโต้แม่ในใจ จะเปลือง สักเท่าไหร่กันเชียวเพิ่งมาสำนึกได้เอาตอนโต “ข้าวสุก” ของแม่ มีความหมายลึกซึ้งมากกว่านั้น
ส.พลายน้อย เขียนเรื่อง “แม่ซื้อ” ไว้ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย (สำนักพิมพ์พิมพ์คำ พ.ศ.2553) ว่า
คนโบราณเชื่อว่า มนุษย์ที่จะเกิดมาเป็นเพราะผีปั้นหุ่นขึ้นมาก่อน แล้วจึงหาวิญญาณเอามาใส่ อ่านกลอนขุนช้างขุนแผน แล้วค่อยเดาต่อเด็กที่เกิดเป็นใคร
“ปั้นแล้วปั้นเล่าเฝ้าริกไป เอานั่นนี่บี้ใส่ให้ครบครัน คืนหนึ่งผีปั้นอยู่ปลายไม้ ยังมีสัตว์อยู่ในนรกนั่น ทนทุกข์เวทนาสากรรจ์ ครั้นสิ้นกรรม ทำนั้นก็พ้นทุกข์ จุติจากเพศเปรตอสุรกาย วุ่นวายวิ่งมาหาความสุข จะไปสวรรค์ มิทันจะพ้นทุกข์ ผีปั้นมันจึงซุกเข้าในครรภ์...”
คงพอเดากันได้ ตัวผู้ร้ายคู่ชิงรักหักสวาทกับพระเอกขุนแผน ก็คือ “ขุนช้าง” นั่นปะไร
สมัยนั้น...ทารกที่เกิดออกมามักจะตายเมื่อคลอดออกมาได้สามวัน คนจึงพากันคิดว่า ผีที่มีหน้าที่ปั้นเกิดชอบหุ่นที่มันปั้น อยากเอาไปเลี้ยงเป็นลูกเสียเองจึงทำให้เด็กตาย ส่วนหุ่นที่ไม่งามจึงปล่อยให้มนุษย์เลี้ยง
เป็นที่มาของประเพณีเอาเด็กใส่กระด้งร่อนร้องว่า “สามวันลูกผีสี่วันลูกคน ลูกของใครมารับเอาไปเน้อ...”
ถึงตอนนี้ก็จะมีคนเข้าไปรับซื้อในราคา 33 เบี้ย คนนี้คือแม่ซื้อ
เมื่อทารกยังอยู่ในเรือนเพลิง ตั้งแต่คลอดใหม่ 3 วันถึง 1 เดือน เกิดอาการบิดตัวหลังร้อนนอนสะดุ้งร้องไห้ไม่หยุด เดี๋ยวร้องไห้เดี๋ยวหัวเราะละเมอเพ้อพก ตำราแพทย์แผนโบราณว่า เด็กนั้นต้องแม่ซื้อหลอกหลอน
หรือไม่ผีรกแห่งกุมารนั้นเองทำเอา
ท่านให้ทำกระทงสี่มุมหนึ่งใบ ทำเครื่องปลา เนื้อ พร้อมทั้งสุรา และข้าวเป็นเครื่องบัดพลี ให้บูชาด้วยพระคาถาองคุลิมาลสามคาบ แล้วเอากระทงเครื่องบัดพลีเหล่านั้น ไปวางบวงสรวงไว้ที่หลุมฝังรกของกุมารนั้น
ทานว่า อาการต่างๆที่เกิดขึ้นจะหายไป
ทางภาคอีสานเชื่อว่าผีแนนหรือผีกำเนิดทำร้ายต้องรีบจัดการรับรอง เอาหมากสองคำ ดอกไม้ธูปเทียนใส่พานไปวางไว้บนที่นอนข้างหัวเด็ก ถ้าเด็กนั้นหายต้องปฏิบัติรักษาผีแนนต่อไป เอากระเช้าเล็กเป็นหิ้งของผี แขวนไว้ที่ฝาเรือนข้างศีรษะที่นอนเด็กจนเด็กมีอายุสามสี่ขวบจึงจะทิ้งได้
เครื่องเซ่นแม่ซื้อที่ทำบางครั้งก็เอาอย่างง่ายๆ เอาข้าวสุกมาปั้นรวมสี่ก้อน ย้อมสีต่างๆสามก้อน เอาข้าวสุกทั้งสี่ก้อนใส่ฝาละมีไปที่ตัวเด็ก หยิบข้าวทีละก้อน ขึ้นมาวนที่ตัวเด็ก กล่าวคำฟาดเคราะห์ว่า
“แม่ซื้อเมืองล่าง แม่ซื้อเมืองบน แม่ซื้อเดินหน แม่ซื้อใต้ที่นอนเชิญมารับก้อนข้าว ขาวเหลืองแดงดำ (ว่าเปลี่ยนไปตามสี) ของลูกไป อย่าให้ กินข้าวขม อย่าให้กินนมราก อย่าให้นอนสะดุ้งนอนหวาด หายเจ็บหายไข้”
กล่าวจบแล้วก็ขว้างก้อนข้าวข้ามหลังคาเรือนที่เด็กนอนอยู่สามก้อน โยนลงแผ่นดินหนึ่งก้อน
ตอนโยนข้าว ท่านให้ร้องวู้ๆกู่เรียกด้วย แล้วเอาน้ำล้างฝาละมีราดตามลงไป
นึกภาพ ก้อนข้าวสุกสี่สี นึกถึงแม่ที่ฝากความหวังว่า ข้าวสุกนั้นจะช่วยยื้อชีวิตลูก ลูกแม่คนหนึ่งจึงคิดได้ ค่าของข้าวสุกที่คนเป็นแม่หลุดปาก บอกลูกๆนั้น คือค่าของข้าวสุกในหัวใจแม่ที่ประเมินค่าไม่ได้
ผมดูคลิปภาพ สองหนุ่มสาว หญิงนุ่งกางเกงสั้นเหมือนกางเกงใน ยื้อธงชาติลงจากเสา เอาธงดำชักขึ้นแทน ฟังคำด่าหยาบคายไร้วุฒิภาวะที่หน้าสภา แล้วก็ถอนหายใจ เด็กพวกนี้ พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ไม่สั่งสอน
อยากด่าเลี้ยงมาเปลืองข้าวสุก ก็ไม่กล้า พวกเขาไม่ได้เกิดมาด้วยข้าวสุก หรือด้วยข้าวแดงแกงร้อนเหมือนเด็กรุ่นผม ดูเหมือนตั้งแต่เกิดมาไม่เคยเป็นหนี้บุญคุณใคร ไม่ว่าพ่อแม่ครูอาจารย์รวมไปถึงแผ่นดิน.
กิเลน ประลองเชิง
อ่านเพิ่มเติม...
September 28, 2020 at 05:01AM
https://ift.tt/3kRNQaf
ค่าของข้าวสุก - ไทยรัฐ
https://ift.tt/2ZQAkws
Home To Blog
No comments:
Post a Comment