Brief :
-
บมจ.ไมโครลิสซิ่ง (MICRO) ประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกมือสอง เช่น รถบรรทุก 6 ล้อ 10 ล้อ และ 12 ล้อ สำหรับใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น อีซูซุ ฮีโน่ และฟูโซ่ เป็นต้น
-
ปัจจุบัน มีสาขาทั้งหมด 12 สาขา กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ จ.นครปฐม เพราะในช่วงแรกของการทำธุรกิจเริ่มจากลูกค้าใน จ.นครปฐม เป็นหลัก
-
MICRO เป็นบริษัทรายแรกและรายเดียวในตลาดหุ้น ที่มีพอร์ตสินเชื่อเกือบทั้งหมดเป็นรถบรรทุกมือ 2 หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 95% ของยอดจัดสินเชื่อทั้งหมด
-
รายได้หลักของบริษัท มาจากรายได้ดอกเบี้ยรับจากสัญญาเช่าซื้อรถบรรทุกมือ 2 ที่เหลือมาจากสินเชื่อเพิ่มสภาพคล่องและสินเชื่อรีไฟแนนซ์
-
มูลค่าตลาดรถบรรทุกมือ 2 อยู่ที่ประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี บริษัทฯ มีส่วนแบ่งการตลาด 5% และมองว่ายังมีโอกาสเติบโตในตลาดนี้ได้อีกมาก
-
บริษัทกำลังจะเสนอขายหุ้นไอพีโอ เพื่อเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น คาดเข้าเทรดต้นเดือน ต.ค.นี้ เงินส่วนหนึ่งนำไปชำระหนี้ และอีกส่วนไว้ขยายธุรกิจ
“อนุมัติไว ขวัญใจ สิบล้อ” ประโยคนี้บนหน้าเว็บไซต์ น่าจะเป็นประโยคที่บอกถึงธุรกิจของ MICRO ได้เป็นอย่างดี กับวิสัยทัศน์ที่จะเป็น "ผู้นำบริการด้านสินเชื่อรถบรรทุกมือสองของประเทศ" ภายใต้สโลแกน “ไมโครลิสซิ่ง ขวัญใจสิบล้อ”
MICRO ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2537 โดยนายธรรมศักดิ์ อัชญาวัฒน์และครอบครัว เป็นแกนนำในการก่อตั้ง ร่วมกับผู้ถือหุ้นอื่นๆ อีก 30 ราย เริ่มแรกดำเนินธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มือสอง ต่อมาบริษัทได้หันมามุ่งเน้นสินเชื่อรถเชิงพาณิชย์ เช่น รถบรรทุก 6 ล้อ 10 ล้อ และ 12 ล้อ เป็นหลัก
MICRO กำลังจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ต่อจากรุ่นพี่ ASK THANI MTC และ SAWAD แม้จะเป็นน้องใหม่แต่จริงๆ แล้วประกอบธุรกิจให้สินเชื่อรถบรรทุกมือ 2 มาแล้ว 26 ปี
บุคคลที่จะมาถ่ายทอดเรื่องราวของ MICRO ในวันนี้คือ “วินิตย์ ปิยะเมธาง” ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ แม้เขาจะไม่ใช่ผู้ก่อตั้ง แต่จากการที่เรามีโอกาสได้พูดคุยบอกได้เลยว่า “วินิตย์” คือกำลังสำคัญในการนำทัพไมโครฯ เดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นบริษัทมหาชน
คำถามแรกของเราคือ "วินิตย์" เป็นใคร? เนื่องจากเมื่อศึกษาข้อมูลประวัติบริษัทพบว่าเขาไม่ใช่ผู้ก่อตั้ง "วินิตย์" ในวัย 63 ปีเริ่มต้นเล่าด้วยความกระฉับกระเฉงและเป็นกันเอง ราวกับรู้ว่าเราจะต้องเริ่มต้นด้วยคำถามนี้ เขาเล่าว่าแท้จริงแล้วเขาไม่ใช่ผู้ก่อตั้ง แต่ได้เข้ามาบริหารงานที่ MICRO ส่วนตัวนั้นเคยทำงานเป็นข้าราชการที่สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในด้านการวิเคราะห์นโยบายและแผนเป็นพิเศษ
นอกจากนี้ เขายังเป็นเพื่อนบ้านอยู่ในหมู่บ้านเดียวกับผู้ก่อตั้ง คือ "ธรรมศักดิ์ อัชญาวัฒน์" และเขามีตำแหน่งเป็นประธานหมู่บ้านอีกด้วย ดังนั้น ทั้งคู่จึงรู้จักกันมาก่อน ทำให้ช่วงแรก "วินิตย์" ได้มีโอกาสเข้ามาเป็นกรรมการอิสระที่ MICRO อยู่สักประมาณ 6-7 เดือน ก่อนที่ต่อมาเขาจะได้เข้ามานั่งในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการแทน "ธรรมศักดิ์ อัชญาวัฒน์" ผู้ก่อตั้งและดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการในขณะนั้น
เขาเล่าว่าการมาดำรงตำแหน่งดังกล่าว เกิดจากจากความไว้วางใจและการสนับสนุนของผู้ก่อตั้ง ที่เชื่อมั่นในฝีมือ และประสบการณ์ของตนเองในการบริหารงานในองค์กรขนาดใหญ่จากภาครัฐ ซึ่งจากประวัติของผู้บริหารพบว่า “วินิตย์” ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2561
ช่วงแรกๆ ของการเข้ามาเป็นกรรมการอิสระ วินิตย์ เล่าว่า เขามักจะทำเกินหน้าที่ไปอยู่บ้าง ทั้งให้คำแนะนำ เสนอแนะเรื่องราวต่างๆ หรือลงมือปฏิบัติในเรื่องที่สามารถช่วยได้ และยิ่งบริษัทเตรียมจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น ก็ยิ่งต้องวางแผนกลยุทธ์ และแผนงานให้มีความเป็นมาตรฐาน ที่สำคัญ “วินิตย์” กล่าวว่า ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่จะต้องพบปะสื่อสารกับสื่อมวลชน นักลงทุน ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ตนเองสามารถช่วยสื่อสารได้ ด้วยเพราะมีประสบการณ์ตรงนี้มาก่อนในสมัยที่ทำงานอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย
“วินิตย์” รับหน้าที่บริหารงานในฐานะหัวเรือใหญ่ โดยที่เขาไม่ได้มีสัดส่วนการถือหุ้นแต่อย่างใด ขณะที่กลุ่มครอบครัวนายธรรมศักดิ์ ในฐานะผู้ก่อตั้ง ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้งก่อนและหลังเสนอขายไอพีโอในสัดส่วน 74.6% และ 58.3% ตามลำดับ ปัจจุบัน "ธรรมศักดิ์ อัชญาวัฒน์" ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทฯ
***MICRO ประสบการณ์ 26 ปีในธุรกิจลิสซิ่งรถบรรทุกมือสอง
“วินิตย์” เริ่มต้นเล่าถึงที่มาที่ไปของไมโครลิสซิ่งว่า เปิดกิจการมาประมาณ 26 ปี โดยกลุ่มผู้ก่อตั้งที่มีความเชี่ยวชาญและชำนาญในธุรกิจอะไหล่รถยนต์มายาวนาน ก่อนที่ต่อมาจะขยายมาทำธุรกิจลิสซิ่งรถบรรทุกมือสองเป็นธุรกิจหลัก จากความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่มีมายาวนาน ทำให้สิ่งนี้ กลายเป็นหนึ่งในจุดเด่นของ MICRO ในธุรกิจลิสซิ่งรถบรรทุกมือสอง
บริการสินเชื่อมี 3 ประเภท ได้แก่ 1.สินเชื่อสำหรับผู้ที่เริ่มต้นกิจการรถบรรทุก ใช้ในการขนส่งพวกพัสดุครุภัณฑ์ ผลิตผลต่างๆ 2.สินเชื่อเพิ่มสภาพคล่อง คือรถที่มีอยู่และปลอดภาระแล้วก็เอามาใช้บริการเพื่อเพิ่มสภาพคล่องไปดำเนินธุรกิจ และ 3.สินเชื่อรีไฟแนนซ์ ลูกค้าที่ใช้บริการเช่าซื้อผ่อนไปได้สัก 2-3 ปี ก็นำรถมารีไฟแนนซ์ ได้เงินส่วนต่างไปใช้ขยายธุรกิจ เพิ่มความคล่องตัว
สำหรับรถบรรทุกที่บริการอยู่จะมีอยู่ 3 ยี่ห้อเท่านั้น ซึ่งเป็นรถตลาด ซื้อง่ายขายคล่อง เป็นที่นิยม ได้แก่ อีซูซุ ฮีโน่ และฟูโซ่
***ขนาดพอร์ตสินเชื่อ 2.14 พันลบ. เป้าสิ้นปีนี้ 2.5 พันลบ.
“วินิตย์” กล่าวว่า พอร์ตสินเชื่อของ MICRO ณ สิ้นไตรมาส 2/63 อยู่ที่ประมาณ 2,140 ล้านบาท และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น 2,500 ล้านบาท เหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนแต่มั่นใจว่าจะทำได้ตามเป้า แม้ที่ผ่านมาจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ก็เพียงเล็กน้อย เนื่องจากลูกค้ามีหลายกลุ่มทำให้กระจายความเสี่ยงได้ดี
“ลูกค้าเรามีกระจายหลายกลุ่ม โดยลูกค้าที่เอารถบรรทุกไปใช้ในการขนส่งจะมีสัดส่วนมากสุดเกือบ 60% อีกประมาณ 20% เป็นพวกขนส่งวัสดุก่อสร้าง อิฐ หิน ดินทราย แล้วก็ประมาณ 17% ก็จะเป็นพวกเกษตร ที่เหลือก็เล็กๆ น้อยๆ เป็นรถเฉพาะกิจ ขนส่งน้ำมันบ้าง แก๊สบ้าง เพราะฉะนั้น เวลาที่เกิดวิกฤต ลูกค้าเราจะไม่ได้รับผลกระทบทุกกลุ่ม”
อย่างไตรมาส 2/63 ซึ่งเป็นไตรมาสที่ภาคธุรกิจจะได้รับผลกระทบจากจากโควิดชัดเจนที่สุด กลับกลายเป็นว่ากำไรของ MICRO กลับเพิ่มขึ้น โดย ณ ไตรมาส 2/63 กำไรเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 33 ล้านบาท จากไตรมาสก่อนหน้าที่ทำได้ 29 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่าผลจากการแบ่ง segmentation ช่วยลดผลกระทบจากโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี และนี่น่าจะเป็นวิกฤตที่หนักที่สุดแล้วของทุกธุรกิจ
***สถานการณ์ NPL ลดลงสวนทางวิกฤตหนี้
เขากล่าวว่า ในวิกฤตโควิด-19 ลูกค้ายังมีความสามารถในการชำระหนี้ที่ดี เห็นได้จากการจำนวนยื่นคำขอเข้าโครงการพักชำระหนี้ของบริษัทมีเพียง 100 รายจากทั้งหมด 3,200 ราย และคัดออกมาแล้วเหลือจริงๆ เพียง 40 ราย
“40 รายนี้ปรากฏว่าจริงๆ แล้วก็ไม่ได้เดือดร้อน แค่เกิดอาการตกใจและมาขอเผื่อไว้เท่านั้นเอง เพราะว่าโดยปกติของธุรกิจรถบรรทุก เขาก็ต้องมีเงินสำรองไว้สำหรับค่าใช้จ่ายค่อนข้างจะสูงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างคนขับ ค่าซ่อม ค่าน้ำมัน ค่าอะไหล่ เพราะฉะนั้น เขาจะมีเงินทุนหมุนเวียนอยู่แล้วโดยปกติ”
กรรมการผู้จัดการ เล่าต่อว่า จำนวน NPL โดยรวมในภาวะวิกฤตรอบนี้ ลดลงสวนทางกับวิกฤตหนี้ในสถานการณ์โควิด โดยล่าสุด ณ ไตรมาส 2/63 อยู่ที่ 2.7% ของสินเชื่อรวม ยังไม่ทะลุจากเพดานที่กำหนดไว้คือ 3% เหตุผลเกิดจากความพยายามในการติดตามหนี้ทุกรูปแบบ การบูรณาการกำลังคน ทั้งส่วนกลางและสำนักงานใหญ่ ทั้งสาขา รวมทั้งทีมนอกที่จ้างมาเป็น 10 บริษัท
“ตอนที่ผมเข้าไปใหม่ๆ เมื่อประมาณปี 60, 61 NPL จากระดับ 12% ก็ลดลงมาเรื่อยๆ เหลือ 5% มาเป็น 4% จนกระทั่งไตรมาส 2 ที่ผ่านมาเหลือ 2.7% ซึ่งมันก็เป็นเป้าหมายที่เราตั้งใจไว้ว่าจะควบคุมไม่ให้เกิน 3% ในตอนที่เราเข้าตลาด ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าจะดูดีสำหรับธุรกิจลิสซิ่ง”
***การประเมินราคารถ - คุณภาพลูกหนี้คือปัจจัยเสี่ยงสำคัญ
“ปัจจัยเสี่ยงคือเรื่องของการประเมินราคารถ อันนี้เป็นหัวใจเลย แล้วก็เรื่องของการคัดเลือกลูกค้าเข้ามา มันอยู่ที่ต้นน้ำ ถ้าคัดเลือกไม่ดีสิ่งที่ตามมาคือหนี้เสีย เพราะฉะนั้น เรามีระบบการคัดกรองลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นเครดิตบูโร Credit scoring หรือว่าทีมงานที่ในการในการติดตาม ซึ่งผลของมันจากตัวเลขมันก็ลดลงมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเมื่อสิ้นไตรมาส 2 ของปี 63 อยู่ที่ 2.7%”
***พอร์ตสินเชื่อ-กำไรย้อนหลัง 3 ปีเติบโตดี ราว 30% ต่อปี
ด้านผลประกอบการในอดีต “วินิตย์” เล่าว่า หากดูสถิติย้อนหลัง 3 ปี รายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากระดับ 200 กว่าล้านบาทขึ้นมาเป็น 300 กว่าล้านบาท ซึ่งรายได้จะแปรผันตรงกับพอร์ตสินเชื่อ ซึ่งก็เติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน จากพอร์ตสินเชื่อ 1,200 ล้านบาท เป็น 1,500 ล้านบาท 2,000 ล้านบาท เมื่อปี62 และ 2,140 ล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 2/63 หรือเติบโตเกือบๆ 30% มาต่อเนื่อง และบริษัทฯ ก็พยายามจะควบคุมให้พอร์ตสินเชื่อโตไม่น้อยกว่า 30%
“พอร์ตสินเชื่อทุก 100 บาท เราจะได้กำไรเกิดขึ้นมาประมาณ 7 บาท และกำไรของเรามันก็โตมาตลอด ค่อนข้างจะดีประมาณ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์เลยนะ ซึ่งหลังจากเข้าตลาดหุ้น เราก็พยายามจะรักษาระดับอัตราการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อก็ดีหรือกำไรก็ดี เราก็มีเป้าหมายว่าไม่ควรจะต่ำกว่า 30% ขึ้นไป”
***รายแรก-รายเดียวใน SET ที่พอร์ตหลักไฟแนนซ์รถบรรทุกมือสอง
เมื่อเราถามถึงจุดเด่นของบริษัทฯ “วินิตย์” เล่าว่ามีหลายประการด้วยกัน อย่างกำไรของบริษัท ถึงแม้ไมโครฯ จะเป็นบริษัทขนาดเล็กแต่อัตราการเติบโตของกำไรดีในระดับต้นๆ ของกลุ่ม คือเติบโตกว่า 30% ต่อปี ทีมผู้บริหารมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ โดยทำธุรกิจนี้มาแล้ว 26 ปี ไม่นับรวมประสบการณ์เริ่มต้นของผู้ก่อตั้ง ที่ทำธุรกิจอะไหล่รถยนต์มาก่อนหน้านั้นหลายสิบปี
อนึ่ง ข้อมูลจากไฟลิ่งเผยถึงรายได้รวมในปี 2560 – 2562 อยู่ที่ 227.0 ล้านบาท 258.6 ล้านบาท และ 330.2 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนกำไรสุทธิ 60.8 ล้านบาท 89.9 ล้านบาท และ 110.8 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิ (CAGR) สูงถึง 34.9% ต่อปี
“รถบรรทุกมือสองไม่ใช่ว่าใครจะเข้ามาทำก็ได้ ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพราะว่าปัจจัยสำคัญที่สุด คือ เรื่องของการประเมินราคารถ กลุ่มผู้ก่อตั้งขายอะไหล่รถยนต์มาก่อน เพราะฉะนั้นก็จะเข้าจะมีความรู้ และทักษะในการประเมินราคารถที่แม่นยำ”
MICRO ยังเป็นรายแรกและรายเดียวในตลาดหุ้น ที่ให้สินเชื่อรถบรรทุกมือสองเกือบทั้งหมด ต่างจากบริษัทอื่นที่ทำธุรกิจใกล้เคียงแต่จะมีหลายโพรดักส์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การเล่นโพรดักส์เดียวแล้วจะไม่มีความเสี่ยง บริษัทฯ ได้กระจายความเสี่ยงไปหลายกลุ่ม แต่มากสุดในกลุ่มขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค หรือกว่า 60% เพราะไม่ว่าจะเกิดวิกฤติอะไรก็ตาม แต่คนยังต้องกินต้องใช้ เห็นได้จากวิกฤตโควิด รายได้และกำไรของ MICRO ยังเติบโตดี
บริษัทที่จะนำมาเปรียบเทียบไม่ค่อยชัดเจนนัก เนื่องจาก MICRO เป็นรายเดียวที่เน้นพอร์ตหลักสินเชื่อรถบรรทุกมือสอง ส่วนรายอื่นจะมีหลากหลาย อย่างของ THANI และ ASK ก็จะมีทั้งการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกมือ 1 และมือ 2 ขณะที่ SAWAD หรือ MTC เน้นการปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เพราะฉะนั้น เวลาเปรียบเทียบก็ต้องเทียบกลุ่มพวกนี้ทั้งหมด
ธุรกิจรถบรรทุกมือสอง ยิ่งอายุนาน ดอกเบี้ยยิ่งสูง ซึ่งบริษัทเน้นรถบรรทุกมือสองที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไปคิดเป็นสัดส่วนถึง 60% ขณะที่รายอื่นเล่นรถอายุต่ำกว่า 10 ปี โดยอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดในสัญญาเช่าซื้อจะเป็นแบบอัตราคงที่ (Flat Rate) อยู่ที่ 8-15%
***มูลค่าตลาดรถบรรทุกมือสอง 2 หมื่นลบ. ยังกินเค้กแค่ 5%
สำหรับมูลค่าตลาดของรถบรรทุกมือสอง ปีละประมาณ 2 หมื่นกว่าล้านบาท MICRO มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 5% ยังค่อนข้างน้อย และยังมีโอกาสที่จะไปชิงส่วนแบ่งการตลาดได้อีกมาก และหากดูสถิติความต้องการของรถมือสองยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับรถมือหนึ่ง โดยเมื่อสิ้นเดือน ก.ค. รถมือสองที่จดทะเบียนที่กรมการขนส่งทางบกมากกว่ามือหนึ่ง สะท้อนว่ายังมีความต้องการมาก อาจจะเป็นเพราะสภาพเศรษฐกิจที่ทำให้กิจการของรถบรรทุกยังคงดีอยู่ และส่วนใหญ่พวกธุรกิจขนส่งจะนิยมเลือกซื้อรถมือสองมาใช้มากกว่า
***หวังโตยั่งยืน เดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
MICRO เปิดดำเนินการมา 26 ปี และวันนี้ทีมผู้บริหารตัดสินใจนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น “วินิตย์” เล่าว่า เพื่อให้ความฝันเป็นจริง ตามวิสัยทัศน์บริษัทที่ว่า “เป็นผู้นำในการให้บริการสินเชื่อรถบรรทุกมือสองของประเทศ” ซึ่งเขาเองได้เข้ามาช่วยวางโครงสร้างต่างๆ ให้กับบริษัทฯ เพื่อปูทางสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
“มันก็ถึงระยะเวลาหนึ่งที่เราต้องการความมั่นคง จริงๆ แล้วฐานเงินของพันธมิตรไมโครลิสซิ่งค่อนข้างดี แต่พอมาระยะหนึ่ง เราก็คิดว่าบริษัทต้องการที่จะมีความมั่นคงยั่งยืนในอนาคต ไม่ใช่แค่รุ่นนี้รุ่นเดียว หรือรุ่นลูก รุ่นหลานเท่านั้น แต่อยากให้ยั่งยืนตลอดไป มันเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างมั่นคง เพราะฉะนั้นก็มีอยู่ทางเดียวก็คือ ต้องเข้าตลาดหลักทรัพย์”
การเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ จะช่วยให้บริษัทมีต้นทุนการระดมเงินที่ต่ำกว่าการกู้เงินกับสถาบันการเงิน โดยเงินระดมทุนส่วนหนึ่งจะไปใช้คืนสถาบันการเงินที่มีดอกเบี้ยค่อนข้างสูง จากนั้น บริษัทฯ ในฐานะบริษัทจดทะเบียนก็สามารถจะออกหุ้นกู้ หรือระดมเงินด้วยวิธีการอื่นด้วยต้นทุนต่ำลงได้
***ตั้งเป้าหมายอีก 2 ปีมี 20 สาขา-พอร์ตสินเชื่อ 5,000 ลบ.
ปัจจุบัน MICRO มีสาขาทั้งหมด 12 สาขา สำนักงานใหญ่อยู่ที่ จ.นครปฐม และกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ ในอนาคตจะขยายสาขาเพื่อรองรับกับพอร์ตสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น โดยปี64 และปี 65 จะขยายเพิ่มปีละ 4 สาขา ส่งผลให้ให้มีครบ 20 สาขาในปี65 และพอร์ตสินเชื่อแตะ 5,000 ล้านบาท
***MICRO ชื่อเล็กแต่ชอบเล่นของใหญ่ วางภาพเป็นหุ้นเติบโต
ในช่วงท้าย กรรมการผู้จัดการ ได้ฝากกับนักลงทุนว่า ไมโครฯ เป็นบริษัทน้องใหม่ ชื่อเล็กก็จริงแต่ว่าชอบเล่นของใหญ่ นั่นก็คือรถบรรทุก ถือว่าเป็นรายเดียวในตลาดหลักทรัพย์ที่เล่นโพรดักส์นี้โดยตรง และยังเป็นโพรดักส์ที่ให้กำไรดี ทั้งพอร์ตสินเชื่อและกำไรสุทธิโตกว่า 30% อยู่ในอันดับต้นๆ ของกลุ่ม ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin : NIM) เมื่อสิ้นไตรมาส 2/63 อยู่ที่ประมาณ 13.7% เป็นตัวเลขที่ค่อนข้างดีอยู่ในกลุ่มที่สูง
ส่วนเรื่องราคาหุ้น ในระยะยาวเรา MICRO คาดหวังอยากจะเป็นหุ้นเติบโต ในขณะเดียวกัน บริษัทมีทีมที่มีความเชี่ยวชาญชำนาญการ มีการวิเคราะห์ลูกค้า คัดเลือกลูกค้า ทั้งการตรวจสอบประวัติผู้กู้จากเครดิตบูโร มีการใช้ Credit scoring เช่นเดียวกับสถาบันการเงินทั่วไป มีทีมงานที่ติดตามหนี้ ทั้งทีมนอก ทีมใน ภายในกันเอง และในอนาคตจะเอาระบบไอทีเข้ามาช่วย เพื่อทำให้บริการที่รวดเร็วขึ้น
No comments:
Post a Comment