ผืนน้ำสีน้ำเงินอมเขียวอันสงบนิ่งและพื้นที่ชายทะเลฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของมอริเชียส ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์บอลลีวูดหลายเรื่อง ตอนนี้กลับเต็มไปด้วยคราบน้ำมันที่รั่วไหลออกมาจากเรือสัญชาติญี่ปุ่นที่แล่นมาเกยตื้น
เรือเอ็มวี วากาชิโอะ (MV Wakashio) ของญี่ปุ่น แล่นมาเกยตื้นนอกชายฝั่งของมอริเชียส ซึ่งเป็นเกาะอยู่ในมหาสมุทรอินเดียช่วงปลายเดือน ก.ค. และน้ำมันก็เริ่มรั่วไหลออกมาเมื่อวันที่ 6 ส.ค.
ภาพถ่ายทางดาวเทียมเผยให้เห็นน้ำมันที่รั่วไหลออกมาครอบคลุมบริเวณตั้งแต่ปวงต์เดส์นี (Pointe D'Esny) บนเกาะหลักไปจนถึงเกาะอิลิลูซิคแกรทส์ (Ile-aux-Aigrettes)
คาดว่า มีน้ำมันรั่วไหลออกมาจากเรือลงไปในลากูน (แหล่งน้ำตื้นบริเวณชายฝั่งทะเลที่แยกจากทะเลโดยการกั้นของเนินทรายหรือแนวปะการัง) ราว 1,000 ตันแล้ว ทำให้ต้องมีปฏิบัติการกำจัดคราบน้ำมัน เรื่องที่น่าตกใจไม่ใช่ปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลออกมา แต่เป็นตำแหน่งที่เกิดการรั่วไหล ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมได้
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลออกมาจนถึงขณะนี้ถือว่าไม่มากนักเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำมันรั่วไหลที่เคยเกิดขึ้นในโลกในอดีต แต่น้ำมันรั่วครั้งนี้กลับสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง
การรั่วไหลของน้ำมันครั้งนี้ต่างจากการรั่วไหลของน้ำมันนอกชายฝั่งส่วนใหญ่ก่อนหน้านี้ เนื่องจากจุดเกิดเหตุเป็นพื้นที่คุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล 2 แห่ง และใกล้กับอุทยานทางทะเลบลูเบย์ (Blue Bay Marine Park) ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญของโลก
แหล่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ
มอริเชียสเป็นพื้นที่สำคัญด้านความหลากหลายทางชีวภาพ มีพืชและสัตว์ที่มีลักษณะเฉพาะและไม่พบในพื้นที่อื่นอยู่จำนวนมาก
"กระแสลมและน้ำกำลังพัดพาน้ำมันไปยังระบบนิเวศทางทะเลที่มีความสำคัญ" ซูนิล มอกชานันด์ อดีตนักกลยุทธ์ของกลุ่มกรีนพีซ (Greenpeace) กล่าวกับ บีบีซี จากเกาะแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้กับจุดเกิดเหตุ
อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของสหประชาชาติ (UN Convention on Biological Diversity) ระบุว่า สิ่งแวดล้อมทางทะเลของมอริเชียสมีสิ่งมีชีวิตอยู่ราว 1,700 สายพันธุ์ รวมถึงปลา 800 ชนิด สัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม 17 ชนิด และเต่า 2 ชนิด
แนวปะการัง หญ้าทะเล และป่าชายเลน ทำให้น่านน้ำของมอริเชียสมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงเป็นพิเศษ
ดร.คอรินา ซิโอกัน ผู้บรรยายอาวุโสด้านชีววิทยาทางทะเลที่มหาวิทยาลัยไบรตัน (University of Brighton) กล่าวว่า "มีพื้นที่ทางทะเลที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงขนาดนี้เหลืออยู่บนโลกนี้เพียงแค่ 2-3 แห่งเท่านั้น การรั่วไหลของน้ำมันเช่นนี้ จะส่งผลกระทบต่อเกือบทุกอย่างที่นั่น"
"ไม่ใช่แค่เรื่องคราบน้ำมันบาง ๆ ที่คุณเห็นบนผิวน้ำที่เกิดจากการรั่วไหลของน้ำมัน"
"แต่ยังมีสารประกอบหลายอย่างในน้ำมันที่จะละลายลงน้ำ มีชั้นที่มีลักษณะเป็นฟองอยู่ใต้ผิวน้ำ และยังมีสารตกค้างที่จะลงไปนอนก้นบริเวณท้องน้ำ เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลทั้งระบบ"
คาดว่าเรือเอ็มวี วากาชิโอะ (MV Wakashio) มีเชื้อเพลิงบนเรือราว 4,000 ตัน โดยมีการรั่วไหลออกมาแล้วเกือบ 1 ใน 4
แม้ว่าสภาพอากาศจะย่ำแย่ นายกรัฐมนตรีประวินด์ กูมาร์ จักนาอุท กล่าวเมื่อวันที่ 12 ส.ค.ว่า น้ำมันทั้งหมดที่อยู่บริเวณจุดเก็บน้ำมันบนเรือถูกถ่ายออกไปแล้ว เหลือแค่น้ำมันส่วนน้อยที่อยู่ตามจุดอื่น ๆ บนเรือ
ก่อนหน้านี้มีความกังวลว่า เรืออาจจะแตกและทำให้มีน้ำมันรั่วไหลออกสู่ทะเลมากขึ้น
มีการใช้เฮลิคอปเตอร์ในการขนถ่ายน้ำมันไปไว้ในเรือสัญชาติญี่ปุ่นอีกลำหนึ่งที่เป็นของบริษัทเดียวกัน
ขณะนี้ตำรวจกำลังสอบสวนหาสาเหตุที่เรือลำนี้แล่นเข้ามาใกล้กับลากูน
ก่อนหน้านี้นายอากิฮิโกะ โอโนะ รองประธานบริหารของมิตซุย โอเอสเค ไลน์ส (Mitsui OSK Lines) ได้แถลงข่าวและกล่าวขอโทษ "อย่างสุดซึ้ง" ต่อการรั่วไหลของน้ำมันและ "ปัญหาใหญ่ที่เราได้ก่อขึ้น"
ฟอกขาวปะการัง
ลากูนแห่งนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็น "ป่าฝนแห่งท้องทะเล" เนื่องจากมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง แต่สิ่งหนึ่งที่บรรดานักสิ่งแวดล้อมเกรงว่าจะเกิดขึ้นมาตลอดก็คือปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว
องค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration: NOAA) ระบุว่าแนวปะการังในบริเวณนี้นอกจากจะช่วยคุ้มครองแนวชายฝั่งจากพายุและการกัดเซาะแล้ว ยังเป็นที่พึ่งพาของปลาราว 25% ในมหาสมุทร
ปะการังและระบบนิเวศทางทะเลยังเป็นหัวใจของการท่องเที่ยวซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจมอริเชียสด้วย
ศาสตราจารย์ริชาร์ด สไตเนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำมันรั่วไหลและนักชีววิทยาทางทะเลในอะแลสกาของสหรัฐฯ กล่าวว่า "สารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่เป็นพิษซึ่งมาจากน้ำมันที่รั่วไหลออกมาจะฟอกขาวแนวปะการัง และท้ายที่สุดพวกมันจะตาย"
ปีที่แล้ว ศาสตราจารย์สไตเนอร์ ได้ให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลหมู่เกาะโซโลมอน ตอนที่เกิดเหตุน้ำมันรั่วไหลจากเรือลำหนึ่งลงสู่แนวปะการังนอกชายฝั่ง
"แม้ว่าน้ำมันจะรั่วไม่มาก น้ำมันปริมาณเพียง 200-300 ตัน แต่ได้สร้างความเสียหายอย่างมากต่อแนวปะการังที่นั่น"
ผลกระทบจากเหตุน้ำมันรั่วไหลในอดีต
เหตุน้ำมันรั่วไหลในส่วนอื่น ๆ ของโลกในอดีต ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสัตว์และพืชในทะเล
ในปี 2010 เหตุการณ์ ดีป วอเตอร์ ฮอไรซัน (Deep Water Horizon) บริเวณอ่าวเม็กซิโก ทำให้มีน้ำมันรั่วไหลออกมาเกือบ 400,000 ตัน ส่งผลให้สัตว์หลายพันสายพันธุ์ตั้งแต่สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในน้ำไปจนถึงโลมาต้องตายลง
นอกจากนี้ยังมีผลกระทบในระยะยาวอื่น ๆ ต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลเกิดขึ้นด้วย รวมถึงการเจริญพันธุ์ที่บกพร่อง การเจริญเติบโตที่ลดลง การบาดเจ็บและโรคต่าง ๆ
ดร.สตีเวน มูรอว์สกี นักชีววิทยาทางทะเลจากมหาวิทยาลัยเซาท์ฟลอริดา (University of South Florida) และแชร์รี กิลเบิร์ต ผู้ช่วยผู้อำนวยการสมาคมซี-อิมเมจ (C-IMAGE Consortium) ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เขียนไว้ในวารสาร "เดอะ คอนเวอร์เซชัน" (The Conversation) ว่า "นักวิจัยพบรอยโรคบนผิวของปลากะพงแดงจากทางเหนือของอ่าวเม็กซิโกเป็นเวลาหลายเดือนหลังเกิดเหตุน้ำมันรั่วไหล แต่ความถี่และความรุนแรงในการพบรอยโรคนี้ลดลงในปี 2012"
"มีหลักฐานด้วยว่า สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่มีความสำคัญทางสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจอย่าง ปลาไทล์ฟิชทอง ปลาเก๋า และปลาเฮกมีการสัมผัสกับไฮโดรคาร์บอนเพิ่มขึ้นและต่อเนื่อง"
ในปี 1978 เรืออะโมโค คาดิซ (Amoco Cadiz) เรือบรรทุกน้ำมันดิบขนาดใหญ่ เกยตื้นอยู่นอกชายฝั่งของแคว้นเบรอตาญของฝรั่งเศส มีน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเลเกือบ 220,000 ตัน ทำให้ชายฝั่งยาว 320 กม.ของฝรั่งเศส เผชิญกับมลพิษจากคราบน้ำมัน และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหลายล้านตัวตายลง อย่างสัตว์จำพวกหอยและปลาหมึก และสัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็งต่าง ๆ
การรั่วไหลในครั้งนั้นยังทำให้นกตายราว 20,000 ตัว และทำให้เกิดการปนเปื้อนบริเวณแหล่งผสมพันธุ์ของหอยนางรมในภูมิภาคด้วย
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า แม้ว่าจะมีความพยายามแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ แต่โดยทั่วไปจะสามารถกำจัดคราบน้ำมันได้ไม่ถึง 10% ของน้ำมันที่รั่วไหลออกมา
ฝรั่งเศสได้ส่งเครื่องบินทหารพร้อมอุปกรณ์ควบคุมมลพิษจากเกาะเรอูนียง (Réunion) ที่อยู่ใกล้เคียง มาช่วยกำจัดน้ำมันรั่วไหลในมอริเชียสด้วย ขณะที่ญี่ปุ่นได้ส่งคณะเจ้าหน้าที่ 6 คน มาช่วยฝรั่งเศส ยามชายฝั่งของมอริเชียสและหน่วยงานของตำรวจหลายหน่วยงาน ได้ลงพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะ
"รัฐบาลมอริเชียสควรประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้" ศาสตราจารย์สไตเนอร์กล่าว
"การที่พวกเขาสามารถขนถ่ายน้ำมันที่เหลืออยู่ออกมาได้เป็นข่าวดี แต่น้ำมันที่รั่วไหลออกไปแล้วในระบบนิเวศของแนวปะการังที่อ่อนไหวอย่างมากเช่นนี้ สร้างความเสียหายอย่างมาก"
"ผลกระทบน่าจะคงอยู่นานอีกหลายปี"
August 18, 2020 at 08:20AM
https://ift.tt/320D2im
น้ำมันรั่วในมอริเซียส: ผู้เชี่ยวชาญระบุ "ผลกระทบน่าจะคงอยู่อีกนานหลายปี" - บีบีซีไทย
https://ift.tt/2ZQAkws
Home To Blog
No comments:
Post a Comment