แทนที่จะโจมตี ‘ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์’ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงแผนการสร้าง ‘ไทยฟลิกซ์’ ชื่อเล่นของแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งลักษณะเดียวกับเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ของเจ้ากระทรวงดีอีเอสไว้อย่างน่าสนใจ และย้ำว่าไทยสมควรต้องทำแพลตฟอร์มแบบนี้จริงๆ
ต้นเรื่องของกรณีไทยฟลิกซ์ คือ ‘พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) แสดงความเห็นส่วนตัวในไลฟ์สดสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (ทีไอเจ) เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2563 โดยเล่าถึงแนวคิดสร้างแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งวิดีโอของคนไทยเพื่อคนไทย ว่ากำลังผลักดันและอาจจะได้เห็นความคืบหน้าในเร็ววันนี้
ชาวเน็ตได้ฟังเท่านี้ก็โจมตีกันใหญ่ แต่แท้จริงแล้วหลักการของไทยฟลิกซ์นั้นถือเป็นตัวอย่างสำคัญของการทำให้แบรนด์ไทยกลับมาเข้มแข็งอีกครั้งในยุคหลังโควิด-19 แบบไม่ต้องมีนวัตกรรมอะไรที่ซับซ้อน แถมเป็น ‘วิถีซอฟต์พาวเวอร์’ ที่ถูกเชื่อกันว่าสามารถสร้างอำนาจใหม่ให้เศรษฐกิจไทยในช่วงเวลาพลิกฟื้นจากวิกฤตโรคระบาด
***ไม่ต้องนวัตกรรมจ๋า?
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ และ ดร.สันติธาร เสถียรไทย ประธานทีมเศรษฐกิจและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท Sea (Group) อธิบายในการเสวนาพิเศษเรื่อง ‘เปลี่ยนโฉมยุทธศาสตร์ Soft Power สร้างอำนาจใหม่ให้ประเทศไทยสู้โลกหลัง COVID-19’ ที่งานแถลงข่าวการจัดงาน Techsauce Virtual Summit 2020: Shaping the New Future ซึ่งจะจัดวันที่ 19-20 มิถุนายน 2563 ว่าซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) จะมีอิทธิพลน่าสนใจในช่วงหลังโควิด-19 เพราะบทบาทของซอฟต์พาวเวอร์ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม ค่านิยม การดำเนินนโยบาย รวมถึงการพัฒนาหลายด้าน จะสามารถนำมาใช้สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสนับสนุนอุตสาหกรรมทุกประเภทของไทยรวมถึงไอที ให้เติบโตสู่เวทีโลกได้
‘ซอฟต์พาวเวอร์ จะทำให้แบรนด์ไทยกลับมาได้ สร้างมูลค่าการผลิตเพื่อส่งออกได้แบบไม่ต้องมีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม แต่แค่ใส่สตอรี่หรือคอนเทนต์ลงไป ก็เป็นอีกวิธีที่น่าสนใจมาก’ ดร.สมเกียรติและดร.สันติธาร กล่าวถึงการทำแผนกู้วิกฤต Recovery Plan ที่จะช่วยให้ธุรกิจไทยรับมือกับนิวนอร์มัลหลังโควิด-19
ดร.สมเกียรติมองว่าวันนี้ประเทศไทยอยู่ในฐานะดีกว่าเพื่อนบ้าน ทั้งในแง่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 และภาพรวมเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น อินเดียและอินโดนีเซีย ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากเพราะความแออัดในชุมชนทำให้ไม่สามารถรักษาระยะห่างทางสังคม ขณะเดียวกันก็สามารถให้งบประมาณอัดฉีดช่วยเหลือเพียง 2% ของจีดีพี ตรงกันข้ามกับไทยที่ใส่เงินไปแล้ว 10% ของจีดีพี และมีแผนรวมถึงความพร้อมที่จะอัดฉีดเพิ่มอีก
แต่ข่าวร้ายคือการปิดเมืองสร้างผลกระทบต่อหลายธุรกิจ แม้แต่วันนี้บางคนบอกว่ายังไม่อยากให้เปิดเมือง และอยากให้ปิดต่อเพราะเปิดร้านแล้วได้รายได้ไม่คุ้มกัน ประเด็นนี้ ดร.สมเกียรติชี้ว่าถึงภาพรวมเศรษฐกิจจะแสดงว่าไทยเอาตัวรอดได้ไม่เลว แต่ก็ยังเกิดผลกระทบและความเสียหายและอาจมีผลเสียในระยะยาว
สิ่งที่แบรนด์ไทยควรทำเพื่อกู้คืนให้ธุรกิจฟื้นตัวจากวิกฤต ดร.สมเกียรติมองว่านอกจากซอฟต์พาวเวอร์ที่จะทำให้ลูกค้าเชื่อถือแบบไม่ต้องบังคับ ธุรกิจก็ควรมีสมาร์ทพาวเวอร์คู่ไปด้วย คือการเอาซอฟต์พาวเวอร์กับฮาร์ดพาวเวอร์มาผสมกัน กลายเป็นนวัตกรรมที่ดีจริง ซึ่งการฟื้นธุรกิจจะทำได้แน่นอนเมื่อนำเอาทั้งหมดมาผสมกัน
‘ยกตัวอย่างธุรกิจท่องเที่ยว เมืองไทยมีซอฟต์พาวเวอร์เยอะ แต่ปัญหาคือไทยเอาแวลูจากจีนได้ไม่เยอะ เพราะเราขาดแพลตฟอร์มที่จะทำให้ดึงแวลูมาได้ แสดงให้เห็นว่าทุกอย่างต้องไปด้วยกัน ทั้งคุณภาพและภาพลักษณ์ที่ดี ไม่ใช่ว่าทำการตลาดเยอะแต่ของดีไม่จริง ต้องเป็นของดีและภาพลักษณ์ที่ไปด้วยกัน’
ดร.สมเกียรติยกตัวอย่างภาพยนตร์ไทยที่โด่งดังในต่างประเทศอย่าง ‘องค์บาก’ ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นกระแสร้อนแรงในตลาดจีน แต่ทำรายได้ให้บริษัทไทยเพียง 5 แสนบาท เพราะโครงสร้างตลาดของธุรกิจภาพยนตร์ในจีน ทั้งระบบความสัมพันธ์ โควต้า รวมถึงปัจจัยอื่นที่บีบให้เจ้าของภาพยนตร์ไม่มีทางเลือก
‘อำนาจต่อรองคนไทยหายไป เรามีซอฟต์พาวเวอร์นะ แต่เอาแวลูมาไม่ได้อีกแล้ว’
ถึงตรงนี้ดร.สมเกียรติกล่าวถึง ‘ไทยฟลิกซ์’ โดยระบุว่าแม้แนวคิดการสร้างแพลตฟอร์มนี้จะถูกวิจารณ์จนดูเหมือนคนไทยไม่ให้ราคา แต่ส่วนตัวมองว่าสมควรต้องทำแพลตฟอร์มลักษณะนี้เหมือน กัน เพราะมีตัวอย่างภาพยนตร์ไทยที่ทำเงินได้ในตลาดจีนด้วยอำนาจต่อรองที่มากขึ้น คือภาพยนตร์ฉลาดเกมโกง
*** ‘ไทยฟลิกซ์’ ควรมา
ย้อนไปเมื่อ 30 พฤษภาคม 63 รมว. ดีอีเอส กล่าวถึงแนวคิดการสร้าง ‘ไทยฟลิกซ์’ ว่าเป็นส่วนหนึ่งของแผนการทำแพลตฟอร์มกลางให้ประเทศไทย จริงอยู่ที่วันนี้ต่างประเทศสร้างแพลตฟอร์มที่คนไทยเข้าถึงง่ายจนเม็ดเงินจำนวนมหาศาลไหลไปนอกประเทศโดยไม่ได้เอามาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเลย แต่ ‘พุทธิพงษ์’ ย้ำว่าเงินเหล่านี้มีโอกาสที่จะดึงเอากลับมาได้ในช่วงหลังโควิด-19 นี้
‘ทำไมคนไทยไม่มีแพลตฟอร์มไทย ที่ประหยัดและมีการใช้ซื้อขายของคนไทยกันเอง ทำไมการซื้อขายสินค้า โฆษณา การโอนเงิน การจ่ายเงินที่คนไทยใช้จึงเป็นของคนต่างประเทศ ทำไมเม็ดเงินต่างๆไหลออกนอกประเทศ ทำไมแพลตฟอร์มกลางถึงเป็นของต่างประเทศหมด และไม่ได้เอาเงินกลับมาพัฒนาประเทศเลย’
วิธีการที่ดีอีเอสจะทำคือการพาภาครัฐและเอกชนมาทำงานร่วม กัน โดยภาครัฐจะนั่งเป็นเจ้าภาพ (รัฐสนับสนุนเอกชนทำ) และให้เอกชนไปจัดหาจุดแข่งขันกับต่างประเทศ ซึ่งถ้าทำได้แล้วขายคนไทยได้ เชื่อว่าไม่เกิน 1 ปีก็จะเห็นผล
โครงการแรกที่ดีอีเอสกำลังผลักดันคืออุตสาหกรรมบันเทิง เหตุผลเพราะคนไทยจำนวนไม่น้อยนิยมดูเน็ตฟลิกซ์ และชื่นชมภาพยนตร์รายการทีวีของต่างประเทศ ทั้งที่สื่อบันเทิงไทยมีคุณภาพคับแก้ว ทั้งสารคดี ละคร ทีวีดิจิทัล แต่วันนี้ต้องไปแย่งกันลงยูทูป หรือนำคอนเทนต์คุณภาพไปขายครั้งเดียว แลกกับเงินก้อนหลักสิบล้าน บาท โดยที่ไม่ได้มีส่วนกับรายได้ที่เพิ่มในกรณีที่จำนวนผู้ชมเกิน 100 ล้านวิว
‘เราจะไม่ใช้ชื่อนี้ ไม่ได้คิดจะลอกเลียนแบบ แต่ชื่อไทยฟลิกซ์ใช้อธิบายไอเดียนี้ได้ชัด หลักการคือเราจะไปเป็นทีมไทยแลนด์ นอกจากให้คนไทยได้ดู เราจะเอาไปให้เพื่อนบ้าน ลาว เขมร เวียดนาม ไปขายแบบทีม เกาหลีทำได้ ทำไมคนไทยจะทำไม่ได้’
หลักคิดเรื่องรัฐเป็นแค่ผู้สนับสนุน นั้นตรงกับที่ดร.สมเกียรติมอง เนื่องจากหลายประเทศนิยมดูละครไทย การสร้างไทยฟลิกซ์จะช่วยให้วงการดิจิทัลคอนเทนต์ไทยมีอำนาจต่อรองร่วมกันได้
‘แต่ที่วิจารณ์คือถ้ารัฐทำกันเอง อาจจะเละ แต่ถ้าเอกชนทำได้โดยรัฐสนับสนุน อุตสาหกรรมก็จะฟื้นได้’
ดร.สมเกียรติย้ำว่าไทยต้องเรียนรู้จากญี่ปุ่นเรื่องเกษตรและปศุสัตว์ ที่ผ่านมา การเกษตรญี่ปุ่นถูกมองว่าไม่มีความสามารถในการแข่งขันเช่นกัน แต่ตอนหลังสามารถทำเรื่องเนื้อวากิว หมูคุโรบูตะ นมฮอกไกโด เมลอนญี่ปุ่น มะม่วงไข่พระอาทิตย์ องุ่นรูบี้โรมัน ราคาพวงละหมื่นบาท สิ่งเหล่านี้ขายได้เพราะคุณภาพดีจริงๆ
‘คนญี่ปุ่นปลูกเมลอนเหมือนทำงานศิลปะ ปลูกแล้วถอนดอกที่ไม่สวยทิ้ง จะได้ไม่แย่งอาหารกัน เอาแปรงมาแต้มที่ดอกเพื่อผสมพันธุ์ให้ เลือกลูกที่ดีที่สุด แล้วนวดทุกผล เป็นงานศิลปะที่ทำให้เกิดงานดีคุณภาพเยี่ยม ตรงนี้จะช่วยเศรษฐกิจไทยได้ ทุเรียนภูเขาไฟศรีษะเกษ ปลูกบนพื้นที่ที่เคยเป็นภูเขาไฟ เมลอนอยุธยา ทั้งหมดมีสตอรี่’
แต่ปัญหาคือสินค้าพิเศษของไทยมักขาดแคลนหรือไม่พอจำหน่าย เสียโอกาสทางธุรกิจ ดังนั้นธุรกิจไทยยังต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาซัปพลายเชนแบบเชื่อมทุกจุด
แม้ไทยจะเด่นเรื่องการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ในธุรกิจอาหาร คอนเทนต์ และสุขภาพ แต่การไม่มีพาวเวอร์ด้านเทคโนโลยี ดร.สมเกียรติยอมรับว่าเป็นสิ่งบั่นทอน ทำให้ไม่มียูนิคอร์นตัวเด่นของไทย
‘ภาพลักษณ์ไทยไม่ได้ ไทยไม่เหมือนสิงคโปร์ที่มีภาพเป็นมิตรกับการตั้งธุรกิจหรือทำธุรกิจง่าย ภาพลักษณ์แบบนี้ไม่มีในไทย ไทยไม่ใช่ประเทศใหญ่ประชากรมากเหมือนอินโดนีเซีย ดังนั้นธุรกิจจะโฟกัสเฉพาะตลาดในประเทศไม่ได้’ ดร.สมเกียรติกล่าวและว่า ‘การเป็นบริษัทเทคโนโลยี ไทยจะทำได้ต้องมีโกลบอลมายเซ็ต หาบิสิเนสโมเดลที่จะรองรับตลาดนอกประเทศไทยได้ เมืองไทยอยู่สบายเกินไป ทำให้เราไม่อยากออกไปข้างนอก แต่ถ้าเราอยากโต เราต้องไปอินโด ต้องมีมายเซ็ต ตั้งเป้าให้บริษัทเติบโตให้ได้”
สำหรับการปรับตัวของคนไทยในยุคโควิด ดร.สมเกียรติชี้ว่าคนไทยจะต้องมีทักษะสำหรับศตวรรษที่ 21 ทั้งเรื่องการคิดเป็น ต่อยอดได้ อดทน ใฝ่รู้ ยืดหยุ่น ต้องมีการคิดแบบมองเห็นการเปลี่ยนแปลงได้เป็นฉาก ต้องมีทักษะการคิดถึงการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวตลอดเวลา
‘ทักษะพวกนี้ไม่ใช่วิชา ไม่ใช่ฟิสิกส์ หรือชีวะ แต่เป็นการผสมหลายศาสตร์ เช่น ถ้าอยากรู้เรื่องโควิด ก็ต้องรู้หลายด้าน ซึ่งต้องเปิดใจ กลายเป็น ทักษะศตวรรษที่ 21 แบบบวกๆ ยุคนี้จะเป็น BC ที่ไม่ใช่ก่อนคริสตกาล แต่เป็นยุคก่อนโควิดหรือ Before COVID’
***อยู่รอด อยู่เป็น อยู่ยืน
สำหรับ ดร.สันติธาร มองว่าในระยะสั้นธุรกิจจะต้องปรับตัวให้อยู่รอด ระยะกลางจะปรับให้เข้าสู่ช่วงของการอยู่เป็น และสุดท้ายคืออยู่ยืน โดยขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ช่วง ‘อยู่เป็น’ แล้ว เพราะเปิดประเทศแต่ก็ยังเปิดได้ไม่เต็มที่
‘ตอนนี้เราอยู่ช่วงอยู่เป็น ทำให้ไทยต้องปรับเรื่องบริหารความเสี่ยงอย่างมาก กลายเป็นช่วงที่เราต้องปรับตัวให้เก่ง ต้องอาไจล์อย่างเดียว ระยะยาวคือวิกฤตนี้กำลังเร่งหลายเทรนด์ที่มาแรงให้เกิดขึ้น กลายเป็นเรื่องจำเป็นที่ธุรกิจต้องทำดิจิทัลทรานสฟอร์เมชัน คนที่เข้าไม่ถึงหรือขาดทักษะ ก็อาจจะเป็นการดิสรับชัน เปิดแผลให้ชัดขึ้นได้เหมือนกัน’
ดร.สันติธาร มองว่าการปรับตัวของคนทำงานในช่วงหลังวิกฤต คือการพัฒนาทักษะใน 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือทักษะเทคโนโลยี ให้สามารถใช้เทคโนโลยีได้ และจะยิ่งดีถ้าเขียนโปรแกรมได้ กลุ่มที่ 2 คือทักษะที่ AI ทำไม่ได้ เช่น ความคิดสร้างสรร และแม้แต่ความเห็นอกเห็นใจ ทักษะที่ 3 คือทัศนคติที่คิดว่าต้องล้มแล้วลุกได้ รวมถึงทักษะผู้นำ ที่ต้องถ่ายทอด สื่อสาร แล้วขยับเรือทั้งลำให้ไปด้วยกัน
ดร.สันติธารเชื่อว่าอุปสรรคของการเป็นบริษัทเทคโนโลยีในมุมธุรกิจไทย คือการสร้างคนที่มีความลึก และเป็นตัวจริงเรื่องปัญญาประดิษฐ์ หรือวิทยาศาสตร์ข้อมูล หากทำได้จะมีประโยชน์อย่างมาก ต่อโกลบอลมายเซ็ตที่วางไว้
‘อีกจุดคือคนจะเรียนจบไอทีนั้นไม่ยาก แต่ความยากคือการเชื่อมโยงคนเรียนเข้ากับคนที่ใช้งานจริงๆได้ อีกจุดคือทักษะดิจิทัลพื้นฐาน เช่น อสม. ที่แพร่กระจายความรู้เรื่องสาธารณสุข ไทยอาจจะมีทีมผู้เผยแพร่ความรู้เรื่องออนไลน์แบบพื้นฐาน ทำหน้าที่สอน พ่อแม่ลุงป้าให้มีทักษะดิจิทัลพื้นฐาน ไม่ใช่แค่ใช้เป็นแต่ต้องรู้ทัน’
ถ้าทำได้แบบนี้ อำนาจใหม่ของประเทศไทยจะเกิดขึ้นแน่นอนในช่วงหลังโควิด-19.
June 13, 2020 at 07:51AM
https://ift.tt/2YnZLCY
"ไทยฟลิกซ์" อำนาจใหม่ประเทศไทย!? (Cyber Weekend) - ผู้จัดการออนไลน์
https://ift.tt/2ZQAkws
Home To Blog
No comments:
Post a Comment