29 มิถุนายน 2563 | โดย ชญานิษฐ์ นกแก้ว
1
‘เอ็นไอเอ’ ผุดโครงการประกวดวีดิทัศน์ด้านมุมมองอนาคต "NIA Creative Contest 2020" ปีที่ 2 ภายใต้แนวคิด “Future Land เมืองแห่งอนาคต" มุ่งสร้างการรับรู้ถึงมุมมองภาพอนาคตกับสาธารณชนให้เกิดการตระหนักในการใช้ชีวิต ทั้งผลักดันให้เกิด “นักอนาคตศาสตร์รุ่นใหม่"
“คุณวิชัยได้ใช้บริการบริษัทคุยกับต้นกระถินหลังบ้านผ่านเครื่องคุยกับต้นไม้ ก็ได้รับรู้ถึงความเศร้าของต้นกระถิน” แนวคิดจากเรื่อง “From Vichai to The White Popinac” และ “แมวเอไออัจฉริยะแก้ปัญหาโรคซึมเศร้าโดยเด็กหญิง 6 ขวบด้วยเทคโนโลยีที่ดีที่สุด” จากเรื่อง “ชูใจ แมว AI อัจฉริยะ” ผลงานคลิปวีดิโอรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศอันดับหนึ่งในการประกวด “ครีเอทีฟ คอนเทสต์ 2019” หัวข้อ Images of Futures : How do you work in the future
สะท้อนภาพอนาคต“เมือง”
ชัยธร ลิมาภรณ์วณิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม หรือ IFI กล่าวว่า ที่มาของแนวคิด Future Land เนื่องจากเห็นว่าแต่ละภูมิภาคมีบริบทและปัญหาที่แตกต่าง อาจจะมีส่วนในการมองภาพอนาคตและถ่ายทอดออกมาเป็นภาพยนตร์ พร้อมนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง เช่น ภาคกลางมีการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้พื้นที่กรุงเทพฯและใกล้เคียงได้รับผลกระทบอย่างหนัก, ภาคเหนือเผชิญฝุ่นพีเอ็ม 2.5 และไฟป่า ส่งผลให้เกิดความตื่นตัวในประเด็นการเปลี่ยนแปลงของโลก สุขภาพและการเมือง
ภาคอีสานมีการคืนถิ่นของแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ทำให้เห็นสิ่งใหม่ชัดเจนขึ้นโดยเฉพาะอาชีพเกิดใหม่ รวมถึงทักษะที่จำเป็นต้องมี เช่น ทักษะด้านดิจิทัล รวมถึงความสนใจในด้านเอนเตอร์เทนเมนท์ที่ประชาชนในภาคอีสานสนใจเรื่องเหล่านี้เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับภาคใต้ที่คนรุ่นใหม่เริ่มคืนถิ่น ซึ่งในอนาคตคาดการณ์ว่าความทันสมัยต่างๆ ก็จะเทียบเท่ากับภาคอื่นๆ
ทั้งนี้ สถาบันเป็นหน่วยงานเฉพาะทางในการพัฒนาความสามารถในการคาดการณ์ทิศทางนวัตกรรม ที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบเศรษฐกิจ สังคมและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในอนาคต โดยหลักสำคัญคือ การพัฒนาเครื่องมือการมองภาพอนาคตที่เรียกว่า Foresight ซึ่งมีขั้นตอนที่ชัดเจนอย่างเป็นระบบ เน้นการมีส่วนร่วมจากผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกมิติเพื่อให้เข้าใจถึงแรงผลักดันที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
ยุทธศาสตร์ของสถาบันฯ ประกอบด้วย 3 ด้านคือ 1.การพัฒนาเครือข่ายนักอนาคตศาสตร์ไทยทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงสร้างการรับรู้ในมุมมองของภาพอนาคต ที่จะช่วยยกระดับความสามารถด้านอนาคตศาสตร์ของประเทศ 2.การศึกษาภาพและแนวโน้มอนาคต ผ่านการเฟ้นหาไอเดียหรือภาพอนาคตใหม่ๆ ที่จะมาเล่าความเปลี่ยนแปลง
3.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากการมองอนาคตโดยใช้เครื่องมือด้านอนาคตศาสตร์ เพื่อการวางแผนและออกแบบกลยุทธ์ทั้งในระดับองค์กร ธุรกิจ และภาคประชาสังคม ส่วนสิ่งที่สามารถนำไปต่อยอดคือ การนำข้อมูลไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนให้สามารถเรียนรู้และเข้าใจว่า ภาพอนาคตของเมืองจะเป็นอย่างไร ประกอบกับสร้างการตระหนักในมุมมองต่างๆ มากขึ้น
ส่องโอกาสจากอนาคตศาสตร์
พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการเอ็นไอเอ กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้ภาพอนาคตมีความพิเศษและน่าสนใจก็คือ “อนาคต” เป็นสิ่งที่ไม่มีใครกำหนด จึงเปิดกว้างสำหรับ “ความเป็นไปได้” ทุกรูปแบบ ด้วยเหตุนี้ ภาพอนาคตจึงเป็นสิ่งสะท้อนจินตนาการ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างสรรค์แรงบันดาลใจ หรือเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี
จากการทำงานด้านอนาคตศาสตร์กว่า 3 ปี พบการตื่นตัวและพูดถึงภาพอนาคตเพิ่มขึ้น ขณะที่กิจกรรมปีที่ผ่านมาให้ความสำคัญกับนวัตกรรมสังคมโดยเฉพาะ “เมืองในอนาคต” ส่วนปีนี้อยากให้มีการสื่อสารภาพอนาคตของเมืองในรูปแบบของ Future Land บนแฟลตฟอร์มสื่อใหม่ที่ทำการผลิตอย่างสร้างสรรค์โดยใช้จินตนาการ ความยาวไม่เกิน 5 นาที
“กิจกรรมการประกวดนี้จะทำให้เห็นประโยชน์เด่นชัด 3 ด้าน คือ 1. ได้นักมองอนาคตรุ่นใหม่ที่เป็นกลุ่มเยาวชน คนรุ่นใหม่ รวมถึงนักสร้างสรรค์นวัตกรรมที่อายุยังน้อย 2.ได้สื่อใหม่ที่จะช่วยสื่อว่าเยาวชนรุ่นใหม่มองภาพอนาคตอย่างไร 3.เป็นโจทย์ให้ผู้สนใจสามารถนำแนวคิดไปสร้างโอกาสพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่ตอบสนองต่อวิถีชีวิต และความเป็นอยู่ที่คนรุ่นใหม่อยากให้เป็น
ถอดรหัสความคิดบน ‘เส้นทางภาพยนตร์’
ด้าน นนทรีย์ นิมิบุตร กรรมการการประกวดและผู้กำกับภาพยนตร์แถวหน้าของประเทศไทย หนึ่งในคณะกรรมการ กล่าวว่า การสร้างสรรค์หนังขึ้นมาสักเรื่องเราต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าทำไมจึงจะต้องมีหนังเรื่องนี้ ฉะนั้นหลักเกณฑ์จะต้องมีความแตกต่างจากคนอื่น พอร์ตเรื่องจะต้องน่าสนใจ และมีความสร้างสรรค์ในมุมต่างๆที่แฝงไปด้วยองค์ความรู้ อย่ายึดติดกับขบวนการของโปรดักส์ชัน
โดยกลยุทธ์สำคัญในการสร้างสรรค์หนังที่ดีคือ 1.ต้องมีไอเดียที่แปลกใหม่ 2.ถ่ายทอดไอเดียเหล่านั้นให้ผู้ชมเข้าใจได้ด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งในยุคนี้ความคิดของคนไปได้เร็วมากเพราะการเข้าถึงของเทคโนโลยี
ดังนั้นควรเริ่มตั้งแต่การค้นคว้าหาข้อมูลของหนังที่จะทำเนื่องจากหนังที่ประสบความสำเร็จได้นั้นจะต้องอาศัย “ความรู้” เป็นองค์ประกอบในการขับเคลื่อน จึงถือเป็นงานที่ต้องอาศัยทั้ง “ศาสตร์” และ “ศิลป์” ควบคู่กันไป
June 29, 2020 at 12:02PM
https://ift.tt/38egxcj
'เอ็นไอเอ' เปิดเวทีจินตนาการปั้น 'นักมองอนาคต'นิวเจน - กรุงเทพธุรกิจ
https://ift.tt/2ZQAkws
Home To Blog
No comments:
Post a Comment