Pages

Thursday, August 6, 2020

นาซาเผยภาพจำลองรูปทรง "เฮลิโอสเฟียร์" แสดงขอบเขตอิทธิพลลมสุริยะ - บีบีซีไทย

dalamlima.blogspot.com

ภาพจำลองรูปทรงของขอบเขตอิทธิพลลมสุริยะ (Heliosphere) แบบล่าสุด

หลายคนอาจสงสัยว่าระบบสุริยะของเรานี้มีขอบเขตกว้างไกลแค่ไหน สิ้นสุดลงที่ใด และขอบเขตของลมสุริยะที่ห่อหุ้มดวงอาทิตย์กับดาวเคราะห์ทั้งแปดอยู่นั้น มีรูปร่างลักษณะเป็นอย่างไรกันแน่

ล่าสุดทีมนักวิทยาศาสตร์ขององค์การนาซาได้ใช้ข้อมูลชุดใหม่ สร้างแบบจำลองสามมิติของเฮลิโอสเฟียร์ (Heliosphere) หรือขอบเขตอิทธิพลลมสุริยะขึ้นมา ทำให้ทราบว่าหากเราสามารถมองเห็นขอบเขตดังกล่าวทั้งหมดได้ มันจะมีรูปทรงบิดงอคล้ายขนมครัวซองต์ มากกว่าจะเหมือนกับดาวหางอย่างที่เคยสันนิษฐานกันไว้

รายงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature Astronomy ฉบับเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ระบุว่าผลวิเคราะห์ข้อมูลล่าสุดจากดาวเทียมสำรวจขอบเขตระหว่างดวงดาว (IBEX) ขององค์การนาซา ชี้ถึงขอบเขตของระบบสุริยะที่มีความแม่นยำมากขึ้น ผ่านการตรวจวัดและวิเคราะห์อะตอมพลังงานสูงที่เป็นกลางทางไฟฟ้า ซึ่งมีอยู่ในรังสีที่แผ่ออกไปจากดวงอาทิตย์หรือลมสุริยะนั่นเอง

ลมสุริยะจะพัดไปจนถึงแนวเขตแดนที่เรียกว่าเฮลิโอพอส (Heliopause) ซึ่งถือเป็นจุดสิ้นสุดอิทธิพลลมสุริยะ หรือที่เรียกว่าเป็นสุดเขตแดนของระบบสุริยะในทางทฤษฎีนั่นเอง โดยดาวเทียม IBEX จะทราบถึงตำแหน่งของแนวเขตแดนนี้ได้ เมื่อพบว่าอะตอมพลังงานสูงในลมสุริยะ ทำปฏิกิริยากับสสารจากห้วงอวกาศระหว่างดวงดาว (Interstellar space) ในระดับสูงสุดที่จุดใด หลังจากที่มันสะท้อนกลับเข้ามายังด้านในของระบบสุริยะอีกครั้ง

ก่อนหน้านี้นักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่า รูปทรงของขอบเขตอิทธิพลลมสุริยะน่าจะคล้ายกับดาวหาง

การที่อะตอมพลังงานสูงทำปฏิกิริยากับห้วงอวกาศภายนอกแล้วสะท้อนกลับเข้ามา แสดงว่าลมสุริยะไม่สามารถพัดผ่านแนวเขตแดนดังกล่าวไปได้ ซึ่งแนวสิ้นสุดอิทธิพลลมสุริยะนี้ อยู่ห่างจากโลกกว่าหมื่นล้านกิโลเมตร และเป็นจุดที่ยานวอยาเจอร์ 1 และ 2 ได้เดินทางไปถึงแล้ว

เมื่อประมวลข้อมูลดังกล่าวจากทุกทิศทาง ทำให้ทีมผู้วิจัยสามารถสร้างแบบจำลองสามมิติของขอบเขตอิทธิพลลมสุริยะขึ้นมาได้ โดยพบว่าลมสุริยะที่เป็นเสมือนเกราะห่อหุ้มป้องกันโลกและดาวเคราะห์เพื่อนบ้านจากรังสีอันตรายนั้น ก่อตัวเป็นรูปทรงบิดงอเหมือนขนมครัวซองต์ หรือหมากฝรั่งที่ถูกเคี้ยวและเป่าจนโป่งพอง หรือรูปร่างทางชีวภาพอื่น ๆ เนื่องจากอิทธิพลของสนามแม่เหล็กจากดวงอาทิตย์

แบบจำลองขอบเขตอิทธิพลลมสุริยะชิ้นใหม่นี้ ยังมีขนาดเล็กกว่า กลมกว่า และแคบกว่า เมื่อเทียบกับแบบจำลองดั้งเดิมซึ่งมีรูปทรงเหมือนดาวหาง

การค้นพบรูปทรงที่ถูกต้องของเฮลิโอสเฟียร์ในครั้งนี้ จะช่วยให้นักดาราศาสตร์สามารถระบุได้ว่า มีระบบสุริยะอื่น ๆ แห่งใดบ้างที่อาจมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่เหมือนกับโลกของเรา โดยดูจากรูปทรงของเฮลิโอสเฟียร์ที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งน่าจะมีระดับการปกป้องสิ่งมีชีวิตจากรังสีอันตรายได้สูงพอกัน

Let's block ads! (Why?)


August 07, 2020 at 08:26AM
https://ift.tt/3fANaTJ

นาซาเผยภาพจำลองรูปทรง "เฮลิโอสเฟียร์" แสดงขอบเขตอิทธิพลลมสุริยะ - บีบีซีไทย
https://ift.tt/2ZQAkws
Home To Blog

No comments:

Post a Comment