ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งในสหรัฐฯ จะเป็นผู้ตัดสินชี้ชะตาในวันที่ 3 พ.ย.นี้ ว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ จะได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต่อไปอีก 4 ปีหรือไม่
ประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันคนนี้มีผู้ท้าชิงตำแหน่งคือนายโจ ไบเดน จากพรรรคเดโมแครต อดีตรองประธานาธิบดีในสมัยนายบารัค โอบามา และเป็นผู้คร่ำหวอดในแวดวงการเมืองสหรัฐฯ มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1970
ในขณะที่วันเลือกตั้งใกล้เข้ามาทุกขณะ สำนักโพลล์หลายแห่งพากันสำรวจความเห็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งว่าจะเทคะแนนให้ผู้สมัครคนใด
บีบีซีจะติดตามผลสำรวจเหล่านั้นเพื่อดูว่าข้อมูลที่ได้จะสามารถบอกเราได้หรือไม่ว่าใครจะเป็นผู้คว้าชัยชนะในศึกเลือกตั้งครั้งนี้
คะแนนนิยมทั่วประเทศเป็นอย่างไร
การทำโพลล์สำรวจความเห็นประชาชนทั่วประเทศของสำนักต่าง ๆ เป็นเครื่องชี้วัดที่ดีว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนทั่วประเทศมากน้องเพียงใด แต่ก็ไม่จำเป็นเสมอไปว่านี้จะเป็นวิธีการที่ดีในการชี้วัดผลการเลือกตั้งจริง
ยกตัวอย่างในปี 2016 นางฮิลลารี คลินตัน มีคะแนนนำในการสำรวจความเห็นประชาชนของโพลล์สำนักต่าง ๆ และได้คะแนนเสียงมากกว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ เกือบ 3 ล้านเสียง แต่เธอกลับพ่ายแพ้การเลือกตั้ง เนื่องจากสหรัฐฯ ใช้ระบบเลือกตั้งที่เรียกว่า คณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดี (electoral college) ดังนั้นการได้คะแนนเสียงเลือกตั้งมากกว่าจึงไม่ได้ทำให้ผู้สมัครคนนั้นชนะการเลือกตั้งเสมอไป
สำหรับการสำรวจความเห็นประชาชนทั่วประเทศในปัจจุบันบ่งชี้ว่า นายไบเดน มีคะแนนนิยมนำหน้าประธานาธิบดีทรัมป์มาแทบจะตลอดทั้งปี โดยมีคะแนนนิยมคงที่อยู่ที่ประมาณ 50% ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา อีกทั้งยังมีคะแนนนิยมนำนายทรัมป์ 10 จุดอยู่เป็นครั้งคราว แต่นายทรัมป์เริ่มมีคะแนนกระเตื้องขึ้นในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา
ในทางกลับกัน ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2016 ผลโพลล์ที่ได้มีความชัดเจนน้อยกว่านี้ โดยที่นายทรัมป์และนางคลินตันมีคะแนนทิ้งห่างกันเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์
สนามเลือกตั้งในรัฐใดจะเป็นตัวตัดสินการเลือกตั้งครั้งนี้
นางคลินตันได้ค้นพบในศึกเลือกตั้งเมื่อปี 2016 ว่าจำนวนคะแนนเสียงที่ได้รับนั้นยังไม่สำคัญเท่ากับว่าชนะการเลือกตั้งที่รัฐใด
รัฐส่วนมากในสหรัฐฯ ใช้วิธีการลงคะแนนเหมือนกัน นี่จึงหมายความว่าในความเป็นจริงจะมีเพียงไม่กี่รัฐที่ผู้ลงสมัครทั้งสองมีคะแนนสูสีกัน และต่างมีโอกาสที่จะชนะพอ ๆ กัน ซึ่งท้องที่การเลือกตั้งเช่นนี้เรียกว่า battleground state หรือ รัฐที่เป็นสมรภูมิสูสี
ในระบบคณะผู้เลือกตั้ง (electoral college) ซึ่งสหรัฐฯ ใช้เลือกประธานาธิบดีนั้น แต่ละรัฐจะมีจำนวนเสียงคณะผู้เลือกตั้งโดยขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรในรัฐ
โดยทั้งประเทศมีคณะผู้เลือกตั้งทั้งสิ้น 538 เสียงให้ช่วงชิง ดังนั้นผู้สมัครรับเลือกตั้งจำเป็นต้องได้ 270 เสียงจึงจะชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ
แผนที่ด้านบนเผยให้เห็นว่าบางสนามเลือกตั้งในรัฐที่เป็นสมรภูมิสูสี มีคณะผู้เลือกตั้งมากกว่า ดังนั้นผู้สมัครรับเลือกตั้งจึงมักใช้เวลาหาเสียงอยู่ในรัฐเหล่านี้มากกว่า
ใครมีคะแนนนิยมนำในรัฐที่เป็นสมรภูมิสูสี
ขณะนี้ผลสำรวจความเห็นของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในรัฐเป็นสมรภูมิสูสี บ่งชี้ว่า นายไบเดน มีคะแนนนิยมนำอยู่
อย่างไรก็ตาม หนทางก่อนถึงวันเลือกตั้งยังอีกยาวไกล และสถานการณ์ต่าง ๆ อาจพลิกผันได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวข้องกับประธานาธิบดีทรัมป์
ผลโพลล์สำนักต่าง ๆ บ่งชี้ว่า นายไบเดน มีคำแนนนำในรัฐมิชิแกน เพนซิลเวเนีย และวิสคอนซิน ซึ่งเป็นรัฐอุตสาหกรรมที่นายทรัมป์เคยชนะมาด้วยคะแนนฉิวเฉียดไม่ถึง 1% ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2016
แต่ท้องที่ที่ทีมหาเสียงของนายทรัมป์จะต้องกังวลมากที่สุด และเป็นรัฐที่ผู้นำสหรัฐฯ เคยกุมชัยชนะท่วมท้นในปี 2016 คือรัฐสมรภูมิสูสี ได้แก่ รัฐไอโอวา โอไฮโอ และเท็กซัส ซึ่งผลสำรวจในปัจจุบันพบว่านายทรัมป์มีคะแนนนิยมสูสีกับนายไบเดน
ผลโพลล์เหล่านี้อาจช่วยอธิบายถึงการที่นายทรัมป์ตัดสินใจเปลี่ยนผู้จัดการทีมหาเสียงเมื่อเดือน ก.ค. และการที่เขามักเรียกผลสำรวจนี้ว่า "โพลล์ปลอม"
การระบาดของโควิด-19 กระทบต่อคะแนนนิยมนายทรัมป์หรือไม่
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็นข่าวใหญ่ในสหรัฐฯ มาตั้งแต่ต้นปี และผลตอบรับต่อการรับมือวิกฤตที่เกิดขึ้นของประธานาธิบดีทรัมป์ก็ต่างกันไปในหมู่ผู้สนับสนุนพรรคต่าง ๆ
คะแนนสนับสนุนของนายทรัมป์พุ่งสูงขึ้นช่วงกลางเดือน มี.ค.หลังจากเขาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ และจัดสรรงบประมาณ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้แก่รัฐต่าง ๆ เพื่อใช้หยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ผลสำรวจความเห็นของ Ipsos บริษัททำโพลล์ชั้นนำ พบว่าขณะนั้น 55% ของคนอเมริกันเห็นด้วยกับการดำเนินการของประธานาธิบดีทรัมป์
แต่หลังจากนั้น คะแนนสนับสนุนของผู้นำสหรัฐฯ เริ่มจางหายไปจากประชาชนที่สนับสนุนพรรคเดโมแครต ในขณะที่ชาวอเมริกันผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกัน ยังคงเดินหน้าให้การสนับสนุนนายทรัมป์ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่า ฝ่ายผู้สนับสนุนของนายทรัมป์เองต่างเริ่มจะตั้งคำถามถึงการรับมือกับโควิด-19 ของเขา โดยรัฐในแถบภาคใต้และภาคตะวันตกซึ่งกำลังเผชิญการระบาดของโรคระลอกใหม่ พบว่า คะแนนนิยมต่อนายทรัมป์ของผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันลดลงไปอยู่ที่ 78% ในช่วงต้นเดือน ก.ค.
นี่อาจช่วยอธิบายว่าเหตุใดในระยะหลัง ๆ มานี้ผู้นำสหรัฐฯ จึงพยายามเปลี่ยนข้อความที่เขาใช้สื่อสารกับประชาชนเกี่ยวกับโควิด-19 ซึ่งก่อนหน้านี้นายทรัมป์มักพูดว่า เชื้อไวรัสนี้จะ "หายไปเอง" มาเป็นการพูดเตือนว่า สถานการณ์โรคระบาดจะ "เลวร้ายลงก่อนที่จะเริ่มดีขึ้น"
นอกจากนี้ ผู้นำสหรัฐฯ ยังเริ่มสวมหน้ากากอนามัยเป็นครั้งแรกเมื่อไม่นานมานี้ พร้อมเรียกร้องให้คนอเมริกันสวมหน้ากากด้วย
แบบจำลองที่สร้างโดยคณะผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันคาดการณ์ว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในสหรัฐฯ จะทะลุ 230,000 คน ภายในวันที่ 1 พ.ย.นี้ หรือเพียง 2 วันก่อนการเลือกตั้ง
เราเชื่อผลโพลล์ได้เพียงใด
เป็นเรื่องง่ายที่เราจะไม่เชื่อผลโพลล์ โดยกล่าวว่ามันเคยทำนายผลการเลือกตั้งผิดพลาดมาแล้วเมื่อปี 2016 ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์ก็มักพูดเช่นนั้นอยู่เสมอ แต่มันก็ไม่ถูกต้องเสียทั้งหมด
การทำโพลล์สำรวจความเห็นประชาชนทั่วประเทศส่วนใหญ่ในตอนนั้นให้นางคลินตันมีคะแนนนำนายทรัมป์อยู่เพียงไม่กี่จุด แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าผลโพลล์เหล่านี้ผิดพลาด เพราะเธอได้คะแนนเสียงมากกว่านายทรัมป์ 3 ล้านคะแนน
สำนักจัดทำโพลล์หลายแห่งมีข้อพกพร่องในการทำโพลล์เมื่อปี 2016 กรณีที่เห็นเด่นชัดคือการที่ไม่ได้สำรวจความเห็นของกลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับมหาวิทยาลัยในสัดส่วนที่มากเพียงพอ จึงทำให้ไม่มีผู้ใดเห็นถึงความได้เปรียบของนายทรัมป์ในรัฐสมรภูมิสูสีที่สำคัญจนกระทั่งจวนเจียนจะถึงวันเลือกตั้งแล้ว ซึ่งปัจจุบันบริษัทผู้จัดทำโพลล์ส่วนใหญ่ได้แก้ไขข้อบกพร่องนี้แล้ว
แต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปีนี้มีความไม่แน่นอนมากกว่าปกติ เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และผลกระทบที่มันมีต่อเศรษฐกิจและผู้คนที่จะใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งในเดือน พ.ย.นี้ ดังนั้นควรอ่านผลโพลล์แต่ละสำนักโดยใช้วิจารณญาณ โดยเฉพาะในช่วงที่ยังห่างไกลจากวันเลือกตั้งจริงในขณะนี้
August 07, 2020 at 10:36AM
https://ift.tt/3khtyYi
เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020 : สำรวจคะแนนนิยม ทรัมป์-ไบเดน ใครมาแรง - บีบีซีไทย
https://ift.tt/2ZQAkws
Home To Blog
No comments:
Post a Comment