ในช่วงที่ แกร็บ และ อูเบอร์ เข้ามาเมืองไทยใหม่ๆ ข้าราชการผู้ใหญ่หลายคนพยายามบอกว่า อีกไม่นานเราก็จะมีแอปเรียกแท็กซี่ของเราออกมาแข่ง ราชการบางหน่วยหรือเอกชนไทยบางรายก็พยายามคิดที่จะพัฒนาแอปออกมาแข่ง ซึ่งผมมีโอกาสไปบรรยายหลายแห่ง และมักจะบอกว่า แกร็บ ไม่ใช่เป็นแค่แอพเรียกแท็กซี่ แต่เป็นบริษัทด้านข้อมูล (Data Company) ที่มีข้อมูลและทีมวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมาก สามารถนำข้อมูลไปต่อยอดทำธุรกิจ เป็นบริษัทยุคที่เรามองว่า ข้อมูลคือสินทรัพย์ หรือ Data is the new oil
ในวิชา บิ๊ก ดาต้า ผมก็มักจะอธิบายกรณีศึกษาของ เน็ตฟลิกซ์ ที่ผมไม่ได้มองว่าเป็นแค่แพลตฟอร์มด้านภาพยนตร์ แต่เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีข้อมูลจำนวนมากที่สุดในโลก มีการประมวลผลข้อมูลในแต่ละวันหลาย เพตาไบท์ เก็บข้อมูลของผู้ใช้บริการทุกอย่าง ตั้งแต่เลือกชมภาพยนตร์เรื่องอะไร ชมเวลาใด มีการหยุดหรือเลื่อนไปครั้งหน้าหรือไม่ เก็บกระทั่งว่าใช้อุปกรณ์ใดที่ไหน
โครงสร้งพื้นฐานด้านไอทีของเน็ตฟลิกซ์ใหญ่มหาศาลมาก ส่วนใหญ่ก็อยู่ใน อะเมซอน เว็บ เซอร์วิส ใช้เทคโนโลยีมากมาย ตั้งแต่บริการการเก็บข้อมูลขนาดใหญ่อย่าง อะแมซอน เอส3 เทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่อย่าง Hadoop, Spark, Cassandra, Presto และอื่นๆ อีกมากมาย เน็ตฟลิกซ์ มีการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งแบบ Batch และ Near real-time ซึ่งทำได้ยากมาก และน่าจะเป็นหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายด้านโครงสร้างพิ้นฐานหลักพันล้านบาทต่อปี หรืออาจจะสูงถึงปีละหมื่นล้านบาท โดยไม่นับรวมทีมด้านไอทีอีกจำนวนมากมาย
เน็ตฟลิกซ์ ก็คือ ดาต้า คอมพานี ที่เป็นบริษัทเทคโนโลยีดาวรุ่งเช่นเดียวกับ กูเกิล อะเมซอน แอ๊ปเปิ้ล ที่มีทีม ดาต้า ไซอันซ์ทิสต์ จำนวนมากหลายร้อยคน โดยยอมจ่ายเงินเดือนสูงกว่าบริษัทอื่นๆ มีทีมงานวิจัยขนาดใหญ่ โดยทำ ดาต้า ไซอันซ์ทิสต์ ในหลายๆ เรื่อง ทำให้เข้าใจพฤติกรรมผู้ชม รู้ว่าชอบอะไร จุดเด่นคือ การแนะนำหนังต่างๆ ให้กับผู้เข้าเว็บไซต์ สามารถจัดกลุ่มผู้ชมได้ แนะนำได้อย่างตรงใจผู้เข้าชม
นอกจากนี้ เน็ตฟลิกซ์ ยังใช้ข้อมูลมาช่วยในการตัดสินใจว่าควรสร้างหรือซื้อภาพยนตร์แนวไหน ยกตัวอย่างเช่น House of cards และสร้างภาพยนตร์เองอีกหลายเรื่องจนกวาดรางวัล เอ็มมี่ มากมายเพราะเข้าใจพฤติกรรมผู้ชมได้ดีมาก และในแต่ละปีตั้งงบประมาณด้านเนื้อหาใหม่ๆ ปีละจำนวนมาก เช่นในปีนี้ตั้งไว้สูงถึง 17,000 ล้านดอลลลาร์สหรัฐ ซึ่งบริษัทได้ใช้วิทยาศาสตร์ข้อมูลมาวิเคราะห์ว่าควรจะลงทุนภาพยนตร์ประเภทใดในแต่ละประเทศ ซึ่งกลุ่มผู้ชมมักจะมีพฤติกรรมที่ต่างกัน
ธุรกิจ สตรีมมิ่ง ทีวี มีอยู่มากมาย แต่รายใหญ่ที่ทำแพลตฟอร์มได้ประสบความสำเร็จมีเพียงไม่กี่ราย เพราะการแข่งขันสูงมากเนื่องจากผู้ชมจ่ายค่าเข้าชมเป็นรายเดือนสามารถปรับเปลี่ยนได้เร็ว หากไม่มีข้อมูลและไม่เข้าใจพฤติกรรมผู้ชม ก็อาจทำให้ผู้ใช้เปลี่ยนไปใช้แพลตฟอร์มอื่นได้ทันที
ในปัจจุบัน เน็ตฟลิกซ์ มีการให้บริการอยู่ใน 190 ประเทศ และมีบริการ 19 ภาษา มีจำนวนผู้ใช้รายเดือนกว่า 180 ล้านคน มีข้อมูลจาก สตาทิสต้า (Statista) คาดการณ์ว่าผู้เข้าชม เน็ตฟลิกซ์ในประเทศไทยอาจมีมากถึง 8 แสนคน ขณะที่ www.comparitech.com คาดการณ์ว่ามีรายได้ปี 2562 กว่า 20,000 ล้านดอลลาร์ และน่าจะมีรายได้จากประเทศไทยประมาณ 30 ล้านดอลลาร์
การที่ เน็ตฟลิกซ์ มีข้อมูลมากมายทำให้บริษัทสามารถที่จะนำไปต่อยอดธุรกิจอื่นๆได้ มากกว่าการทำแพลตฟอร์มด้านภาพยนตร์เพียงเท่านั้น ข้อมูลของการเข้าชม เน็ตฟลิกซ์ สามาถทำให้เข้าใจพฤติกรรมและความนิยมของผู้บริโภค ที่อาจนำไปเสนอขายสินค้าอื่นๆ หรือการร่วมทำธุรกิจด้านอื่นๆได้ เหมือนอย่างที่เราเห็นแพลตฟอร์มอย่าง ไลน์ หรือ แกร็บ ที่สามารถต่อยอดไปทั้งการทำการขนส่ง การชำระเงิน หรือแม้แต่การปล่อยกู้ยืมเงินได้
หากเราเข้าใจการเริ่มต้นที่ถูกว่าควรทำอะไรในยุค Data is the new oil เราก็จะติดกระดุมเม็ดแรกอย่างถูกต้อง เกมส์นี้ไม่ใช่การสร้าง สตรีมมิ่ง แพลตฟอร์มแข่งกัน แต่มันคือการทำ ดาต้า คอมพานี ผู้ที่จะชนะได้ต้องลงทุนแพลตฟอร์มปีละหลายพันล้านบาท ต้องมีข้อมูลมหาศาล ต้องมีการวิเคราะห์ และแน่นอนว่าสงครามแพลตฟอร์มก็คือ Winner take all รายเล็กๆ เข้ามาแข่งยากเนื่องจากขาดข้อมูล
June 05, 2020 at 06:47AM
https://ift.tt/2XwmJsq
'เน็ตฟลิกซ์' ที่เป็นมากกว่า แพลตฟอร์มด้านภาพยนตร์ | ธนชาติ นุ่มนนท์ - กรุงเทพธุรกิจ
https://ift.tt/2ZQAkws
Home To Blog
No comments:
Post a Comment