วลีของปราชญ์พุทธที่ว่า “สุขง่าย ทุกข์ยาก” คือคุณสมบัติของชาวพุทธที่ฝึกจิตปัญญามาอย่างดี เคยชวนให้ผมคล้อยตามอยู่ระยะหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ท่ามกลางสังคมที่อัดแน่นไปด้วยความทุกข์ ในอีกด้านหนึ่ง สังคมนี้ก็พรั่งพรูด้วยธรรมะโลกสวย ธรรมะแนวไลฟ์โคช ที่เน้นการพูดถึงความสุข จนกลายเป็นแฟชั่นทำนองว่า ใครที่หันหน้าเข้าหาธรรมะ, พระและฆราวาสที่บรรยายธรรมะ ต้องแสดงออกให้เห็นถึงการเปล่งประกายออร์ร่าทางหน้าตาผิวพรรณว่าชีวิตนี้เปี่ยมสุข ตั้งแต่สุขกว่าตอนที่ยังไม่ได้สนใจธรรมะ ไปจนถึงสุขได้แม้ในยามชีวิตเผชิญวิกฤต ไวรัสโควิดมาก็มองเห็นเป็นของขวัญ สุขเสมออยู่กับปัจจุบันขณะ สุขทุกขณะจิต สุขทุกลมหายใจเข้า-ออก ฯลฯ
ดูเหมือนว่าธรรมะแนวสุขง่าย ทุกข์ยาก, ธรรมะเปี่ยมสุข กระทั่งธรรมะโคตรสุข จะไปกันได้อย่างกลมกลืนกับ “สังคมคืนความสุข” เพราะอย่างน้อยก็ไม่เคยเห็นปราชญ์พุทธ, ผู้รู้พุทธทั้งพระและฆราวาสออกมาแสดงความทุกข์ร้อนอะไรกับการที่เพื่อนร่วมสังคมถูกปราบปราม ถูกอุ้มหายคนแล้วคนเล่า หรือประเทศนี้มันจะมากด้วยความอยุติธรรม การกดขี่ การกดปราบคนคิดต่างในนามของอำนาจที่อ้างธรรมครั้งแล้วครั้งเล่า ก็เป็นเรื่องธรรมดาโลกที่ไม่ควรไปยึดติดให้จิตใจเศร้าหมอง
ทำไมศาสนาที่สอน “ความพ้นทุกข์” จึงเป็นศาสนา “ขายความสุข” ได้ขนาดนั้น แม้ในยามวิกฤตก็ยังพลิกวิกฤตเป็นโอกาสที่จะแสดงความสุขได้เสมอ ขณะที่สงวนท่าทีหรือ “วางอุเบกขา” ที่จะแสดงความทุกข์ร้อนเจ็บปวดต่อความอยุติธรรม การละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน ความรุนแรงต่างๆ ทางสังคมและการเมือง ในที่สุดผมก็ไปอ่านหนังสือเล่มนี้อีกรอบอย่างไตร่ตรองมากขึ้น (ตามภาพข้างล่าง)
(ที่มา https://www.watnyanaves.net/th/book_detail/362)
เป็นหนังสือที่อธิบายหลักการความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาล และวิพากษ์ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนาไทยในช่วง 2 ศตวรรษ คือตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ 1 ถึงปัจจุบัน จุดเด่นไม่ได้อยู่ที่การให้รายละเอียดทางประวัติศาสตร์ที่ครอบคลุม แต่อยู่ที่การเสนอแนวคิดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนาอย่างชัดเจนเป็นระบบมากที่สุด โดยอ้างอิงข้อมูลจากไตรปิฎกและหลักการที่ถือปฏิบัติมาในสังคมไทย อ่านและคิดอย่างวิพากษ์แล้วทำให้ผมคิดว่า พอจะได้คำตอบบางประการต่อคำถามข้างต้น
หนังสือเล่มนี้อธิบายหลักความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนาสมัยพุทธกาล โดยอ้างอิงคำสอนของพุทธะ สรุปประเด็นสำคัญได้ว่า รัฐกับฝ่ายพุทธศาสนามี “หน้าที่” ต้องปฏิบัติอย่างประสานและส่งเสริมสนับสนุนกัน คือ รัฐทำหน้าที่ปกครองโดยธรรม และอุปถัมถ์คุ้มครองพุทธศาสนา ฝ่ายพุทธศาสนาทำหน้าที่ให้คำปรึกษาทางธรรมที่ผู้ปกครองควรนำไปปฏิบัติในชีวิตส่วนตัว, ในการปกครอง และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกิจการพุทธศาสนาแก่ฝ่ายรัฐ และสอนศีลธรรมแก่ผู้ใต้ปกครองทุกหมู่เหล่า
ในการปกครองนั้น กษัตริย์หรือรัฐต้องปกครองโดยธรรม โดยผู้ปกครองต้องรู้ธรรม มีธรรมาธิปไตย เคารพธรรม บูชาธรรม และเชิดชูธรรม ซึ่งก็คือปฏิบัติตามหลักจักรวรรดิวัตร (รวมทศพิธราชธรรม, ราชสังคหวัตถุ) และวัชชีธรรม ส่วนหน้าที่ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพุทธศาสนานั้น กษัตริย์หรือรัฐต้องทำหน้าที่ 2 ส่วนหลักๆ ได้แก่
1. หน้าที่ต่อธรรม คือหน้าที่ในการส่งเสริมการเผยแพร่ธรรมให้ดำรงอยู่ในสังคมหรือในโลก เพื่อประโยชน์สุขแก่พหูชนหรือคนส่วนใหญ่ ด้วยการให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองโดยชอบธรรมแก่พระภิกษุรายบุคคล, คณะสงฆ์, ส่งเสริมกิจการพุทธศาสนาโดยรวม และมีหน้าที่ “ทำให้พุทธศาสนาบริสุทธิ์” ด้วยการอุปถัมภ์การสังคายนา, ชำระล้างศาสนา เช่นการกำจัดภัยภายในและภัยภายนอกต่างๆ
2. หน้าที่ตอบแทนคุณพระสงฆ์ ที่จริงข้อนี้เหมือนพูดซ้ำความหมายของข้อแรก แต่ผู้เขียนคงต้องการ “เน้น” ให้ชัดเด่นขึ้นดังที่ (หน้า 14-15) เขียนว่า “...ตามปกติพระภิกษุสงฆ์หรือทางฝ่ายศาสนา เป็นผู้แนะนำสั่งสอนประชาชนให้ดำรงอยู่ในศีลธรรม ...ก็จะเป็นพลเมืองที่ดี ผลประโยชน์นี้ก็ตกแก่รัฐด้วย ช่วยให้รัฐนั้นเจริญรุ่งเรืองมีความสงบสุข รัฐมีความสำนึกในคุณของฝ่ายสงฆ์จึงถวายความคุ้มครองทะนุบำรุงและอุปถัมภ์พระสงฆ์หรือทางศาสนานั้น เป็นการตอบแทนคุณความดี หรือบูชาคุณของฝ่ายศาสนาหรือฝ่ายพระสงฆ์นั่นเอง และทำหน้าที่ดังกล่าวแทนประชาชน คืออุปถัมภ์บำรุงศาสนาแทนประชาชน ...”
บางคนอาจเกิดคำถามในใจว่า แท้จริงแล้วพระสงฆ์ยังชีพด้วยอาศัยปัจจัย 4 จากประชาชนซึ่งเป็น “ผู้ผลิต” จึงควรจะถือว่าประชาชนมีบุญคุณต่อพระสงฆ์มากกว่าไม่ใช่หรือ
แต่ที่น่าสนใจคือกรณีตัวอย่างของการทำหน้าที่ข้อแรก หรือ “หน้าที่ต่อธรรม” ซึ่งหนังสือยกตัวอย่างกรณีโจรองคุลิมาลที่ฆ่าคนนับพันคนแล้วกลับใจมาบวช เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลทราบ นอกจากจะไม่เอาผิดทางอาญาแล้ว ยังแจ้งเจตจำนงให้ความอุปถัมภ์พระองคุลิมาลด้วยความเลื่อมใส หนังสือ (หน้า 12-13) อธิบายเหตุผลว่า
“การที่พระเจ้าปเสนทิโกศลไปยกย่องพระองคุลิมาล ทั้งๆ ที่โดยส่วนตัวพระองคุลิมาลก็บวชมาจากโจร การที่พระองค์ทรงกราบไหว้ หรือทำนุบำรุงนั้น หมายความว่าพระองค์ทรงเคารพธรรม หรือเชิดชูธรรม คือธรรมที่พระองคุลิมาลนี้ เมื่อได้เข้ามาบวชแล้ว จะต้องเป็นผู้รักษาประพฤติปฏิบัติและธำรงสืบทอดไว้”
เท่ากับว่า “การปฏิบัติอย่างเคารพธรรมและเชิดชูธรรม” ในกรณีนี้ คือการให้ “อภิสิทธิ์” แก่พระภิกษุที่เคยฆ่าคนมานับพัน โดยไม่ต้องรับผิดทางอาญาใดๆ ซึ่งก็ขัดกับหลัการปกครองโดยธรรมที่ผู้ปกครองต้อง “ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ใต้ปกครองทุกหมู่เหล่า” เพราะการให้อภิสิทธิ์แก่พระองคุลิมาลอธิบายไม่ได้ว่ามีความเป็นธรรมแก่คนที่ถูกฆ่านับพัน และพ่อแม่ ลูกเมีย ญาติมิตรของคนเหล่านั้นอย่างไร
หรือถามได้อีกว่า ในกรณีนี้กษัตริย์พุทธมามกะผู้ปกครองโดยธรรมควรจะเคารพหลักธรรมใด ระหว่างหลักจักรวรรดิวัตรที่ต้องให้ความคุ้มครองอย่างเป็นธรรมแก่คนทุกหมู่เหล่าเสมอกัน กับการเคารพธรรมที่อยู่กับพระองคุลิมาลในฐานะผู้บวชศึกษา ประพฤติปฏิบัติและสืบทอดธรรม ดูเหมือนว่าคำตอบชัดเจนแล้วในพระไตรปิฎก นั่นคือ กษัตริย์พุทธมามกะควรเคารพธรรมในตัวพระภิกษุมากกว่า โดยได้รับการ “การันตี” จากพุทธะอีกด้วย
ดังนั้น ในกรณีตัวอย่างนี้ ทุกข์ของคนที่ถูกฆ่านับพัน และพ่อแม่ ลูกเมีย ญาติมิตรที่เป็นผู้ใต้ปกครองในแผ่นดินของกษัตริย์พุทธมามกะผู้ปกครองโดยธรรม ไม่ถูกนำมา “ชั่งน้ำหนัก” แม้แต่น้อยในการตัดสินใจบนหลักการเคารพธรรมและเชิดชูธรรม การแสดงออกให้ปรากฏเป็นที่รับรู้ว่ากษัตริย์และพุทธะเคารพธรรมและเชิดชูธรรมต่างหากที่สำคัญกว่า เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของพหูชนมากกว่า และอาจทำให้คนอ่านเรื่องเล่านี้ “ฟิน” หรือ “อิ่มสุข” โดยธรรมมากกว่า
ประเด็นสำคัญต่อมาคือ ฝ่ายพุทธศาสนาโดยพระศาสดา คือ “พุทธะ” ได้แสดงแบบอย่างทางการปฏิบัติในการใช้ธรรมต่อทุกข์ทางสังคมอย่างไร
หนังสือเล่มนี้ยกตัวอย่างพุทธะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองใน “ขอบเขตที่พระทำได้” หรือ “ควรทำ” 2 กรณี คือ พุทธะไปแสดงธรรมสอนญาติสองฝ่ายที่จะทำสงครามแย่งน้ำทำนาให้รู้ว่า “ชีวิตคนสำคัญกว่าน้ำ” ไม่ก้าวก่ายแทกแซงอะไรมากไปกว่านี้ กับอีกกรณีคือพระเจ้าวิฑูฑภะจะยกทัพไปฆ่าล้างเผ่าพันธุ์พวกเจ้าศากยะ พุทธะได้ไปปรากฏตัวที่เส้นทางเดินทัพพอให้รู้ว่าหมายถึงอะไร ทำให้วิฑูฑภะยกทัพกลับถึง 3 ครั้ง แต่ครั้งที่ 4 พุทธะปล่อยไป ไม่ไปยุ่งเกี่ยวใดๆ อีก (ในอรรถกาเล่าว่าพุทธะอธิบายภายหลังว่า ถึงวาระที่พวกเจ้าศากยะต้องใช้กรรมที่เคยทำไว้แต่ชาติก่อน)
ข้อสังเกตของผมคือ ทำไมการปฏิบัติของพุทธะและปเสนทิโกศลต่อ “กรณีองคุลิมาล” ในนามของการเคารพธรรมและเชิดชูธรรม จึงไม่มีการนำ “ทุกข์ทางสังคม” (ทุกข์ของคนถูกฆ่าและบรรดาพ่อแม่ ลูกเมีย ญาติมิตร กระทั่งผู้คนในสังคมที่หวาดกลัวความโหดร้ายของ “ฆาตกรต่อเนื่อง” นับพันศพ) มาคำนวณนับในการตัดสินใจให้อภิสิทธิ์แก่พระองคุลิมาลเลย การปฏิบัติแบบเคารพธรรมและเชิดชูธรรมในกรณีนี้ ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึง “ความชอบธรรม” ของการใช้อำนาจรัฐ (เช่น ความชอบธรรมตามหลักจักรวรรดิวัตร) เลยหรือ และไม่จำเป็นต้องคำนึงถึง “ความยุติธรรม” ทางสังคมเลยหรือ
การไม่คำนึงถึง “ความชอบธรรม” และ “ความยุติธรรม” ดังกรณีตัวอย่าง ย่อมแสดงให้เห็นถึงอำนาจผูกขาดของพุทธะและกษัตริย์พุทธมามกะผู้ปกครองโดยธรรมอย่างชัดเจน ในการนิยามความหมายของธรรมและการปฏิบัติแบบไหนที่เป็นการเคารพธรรมและเชิดชูธรรม
ขณะที่การใช้ธรรมแสดงความรับผิดชอบต่อทุกข์ทางสังคมโดยพุทธะเอง ก็ทำเพียงในความหมายของ “การเทศนา” เท่านั้น ไม่ได้แสดงการต่อต้านความรุนแรงที่ผิดหรือละเมิดหลักธรรมของพุทธศาสนาอย่างจริงจังเท่าที่ควรจะเป็น การรับผิดชอบต่อทุกข์ทางสังคมในแบบที่จำกัด “ขอบเขต” ที่เหมาะสมอยู่ที่การเทศนาเช่นนี้ ได้นำมาซึ่งคำถามทางศีลธรรมต่อบทบาทของพุทธะเสียเอง
เช่น กรณีโด่งดังคือ พระเจ้าอชาตศัตรูผู้ซึ่งหนังสือเล่มนี้อธิบายว่าเป็นกษัตริย์ผู้เคารพธรรมและเชิดชูธรรม “ด้วยการเว้นอากร(ภาษี)แก่ชาวนาที่มาบวชเป็นพระ” (หน้า 13) แต่น่าแปลกว่าทำไมกษัตริย์พุทธมามกะผู้เคารพธรรมและเชิดชูธรรมถึงปานนั้นจึงได้ส่งอำมาตย์วัสสการพราหมณ์ไปขอคำแนะนำในเรื่องการทำสงครามจากพุทธะ เขาไม่รู้เลยหรือว่าการทำสงครามขัดกับธรรมที่พุทธะสอนและเป็นธรรมที่เขาเคารพ แต่ด้วยวิธีจำกัด “ขอบเขต” อันเหมาะสมในการเกี่ยวข้องกับการเมือง พุทธะจึงได้ “แนะ” วัสสการพราหมณ์ด้วยการเทศนาให้เห็น “จุดแข็ง” ของแคว้นวัชชีว่า ตราบใดที่พวกเจ้าลิจฉวียังสามัคคีตั้งมั่นในวัชชีธรรม แคว้นวัชชีไม่มีทางที่จะเสื่อม มีแต่ความเจริญถ่ายเดียว ทำให้วัสสการพราหมณ์เกิด “ธรรมจักษุ” มองเห็น “นัย” ว่าเขาต้องวางแผนทำให้พวกเจ้าลิจฉวีแตกสามัคคีก่อนถึงจะยึดครองวัชชีได้ ประเด็นนี้มุกหอม วงษ์เทศวิพากษ์ไว้ในบทความ “เปิดทองหลังพระ” ในวารสารอ่าน ฉบับ “อ่าน-บอดใบ้” (สิงหาคม 2558) อย่างคมคายว่า
“น่าสงสัยว่าเหตุไฉนพระพุทธเจ้าจึงไม่เทศนาเรื่องสันติภาพและบาปกรรมของการฆ่า และการเผยจุดแข็งของฝ่ายหนึ่งเป็นการบอกวิธีทำลายจุดแข็งนั้นโดยนัยหรือไม่ ในเรื่องจุดหมายปลายทางโลกุตตรธรรม พระพุทธเจ้าเป็น “idealist” แต่ในทางสังคม พระพุทธเจ้าดูจะเป็น “pragmatist” เสมอ”
สรุปคือ ในนามของการเคารพธรรมและเชิดชูธรรม ไม่ว่ากรณีองคุลิมมาล, การเกี่ยวข้องกับสงครามแย่งน้ำของหมู่ญาติ, การฆ่าล้างเผ่าพันธ์พวกเจ้าศายกะ, การตอบวัสสการพราหมณ์ที่มาขอคำแนะนำในการเข้าตีแคว้นวัชชี ล้วนแต่เน้นความสำคัญสูงสุดอยู่ที่ “ความบริสุทธิ์” ของนักบวช ถ้าเป็นนักบวชผู้ประพฤติธรรม รักษาและสืบทอดธรรมแล้ว แม้เคยฆ่าคนมานับพันก็ไม่ควรรับผิดอาญา ในกรณีที่พุทธะใช้ธรรมเข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกข์ทางสังคมและการเมือง ก็จำกัดขอบเขตอยู่ที่ต้องรักษาความบริสุทธิ์ของนักบวชเป็นด้านหลักว่าแค่ไหนที่นักบวชทำได้หรือควรทำ ซึ่งก็ทำได้เพียง “เทศนา” เป็นหลักเท่านั้น
ศาสนาแบบนักบวชและชนชั้นปกครองเป็นใหญ่โดยธรรมเช่นนี้ จึงเป็นศาสนาที่ไม่แปดเปื้อนความสกปรกหรือทุกข์ทางโลก พุทธะเปรียบดังดอกบัวที่เกิดจากโคลนตม แต่ไม่แปดเปื้อนโคลนตม พระสงฆ์สาวกจาริกไปในโลกที่เต็มไปด้วยกิเลสและความทุกข์ แต่ไม่แปดเปื้อนกิเลสและความทุกข์อันเป็นความจริงที่น่ารังเกียจ นัยหนึ่งคือเป็นศาสนาที่ไม่ทุกข์ร้อนอะไรต่อทุกข์ทางสังคม แม้จะพูดถึง “เมตตาธรรมค้ำจุนโลก” แต่อานิสงส์ของการเจริญเมตตาก็คือ “หลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข” นั่นแล
อีกอย่าง ความเป็น pragmatist หรือนักปฏิบัตินิยมที่มุ่งผลลัพธ์เฉพาะหน้าและตามสถานการณ์ โดยไม่เลือกวิธีการ น่าจะเป็นลักษณะเด่นที่ตกทอดมาสู่ปัญญาชนพุทธไทยในปัจจุบัน เห็นได้จากพวกที่เข้าไปร่วมงานกับฝ่ายเผด็จการ ล้วนแต่เป็นพวกที่อ้างธรรมอย่างคล่องปากแทบทั้งนั้น และสำหรับ “ราษฎรอาวุโส” บางคนก็ถนัดในการ “เทศนา” สัมมาปฏิบัติทางการเมือง ในแบบที่ไม่แตะต้อง “อำนาจนำทางการเมือง” ของฝ่ายเผด็จการแต่อย่างใด
ความน่าประหลาดอีกอย่างคือ บทบาทในนามศาสนาที่ไม่ทุกข์ร้อนในปัจจุบัน นิยมอ้างธรรมตัดสินนักการเมืองและประชาชนแบบเอาเป็นเอาตาย ทั้งๆ ที่นักการเมืองและประชาชนอ้างหลักประชาธิปไตย ไม่ได้ป่าวประกาศว่าใช้ธรรมปกครองบ้านเมืองเลย แต่กับผู้มีอำนาจที่ประกาศว่าใช้ธรรมปกครองบ้านเมือง พระสงฆ์และฆราวาสผู้รู้ธรรมหาได้เคยอ้างธรรมตั้งคำถามและวิจารณ์ตรวจสอบการใช้ธรรมปกครองไม่
จึงเป็นเรื่องตลกร้าย หรือผิดฝาผิดตัว ที่นิยมอ้างธรรม, ธรรมาธิปไตยไปตั้งคำถาม วิจารณ์และตรวจสอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีหลักการตัดสินถูก ผิดและกระบวนการตรวจสอบชัดเจนในตัวมันเองอยู่แล้ว แต่กลับไม่เคยทำแบบนั้นกับอำนาจที่ปกครองโดยธรรมแต่อย่างใด
June 06, 2020 at 11:14PM
https://ift.tt/3gZf1ig
สุรพศ ทวีศักดิ์: ศาสนาที่ไม่ทุกข์ร้อน - ประชาไท
https://ift.tt/2ZQAkws
Home To Blog
No comments:
Post a Comment